ขสมก.ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดำเนินการจัดซื้อรถโดยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ
หรือ เอ็นจีวี จำนวนทั้งสิ้น 3,183 คัน เพื่อใช้แทนรถโดยสารเดิมที่ใช้ดีเซล โดยแบ่งเป็นรถโดยสารธรรมดา 1,659 คัน และ รถโดยสารปรับอากาศ 1,524 คัน ในวงเงิน 13,162 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินโดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งมติครม.ครั้งนี้เป็นเรื่องเดิมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 โดยในครั้งนั้นรัฐบาลชุดก่อนได้ทำเรื่องเสนอ ครม. เช่นเดียวกัน แต่เป็นการขออนุมัติจัดหารถใหม่ 4,000 คัน และเรื่องได้ค้างมาจนถึงรัฐบาลชุดนี้
กระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นประเด็นที่สงสัยกันมากนัก เพราะถึงอย่างไรเสียก็จำเป็นต้องจัดซื้ออยู่แล้ว เนื่องจากรถโดยสารของ ขสมก. มีอายุใช้การมานานนับ 20 ปี และหากดูการประเมินความคุ้มค่าแล้ว หากเป็นไปตามเอกสารที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ก็จะเห็นว่ามีแต่ความคุ้มค่า ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่ายของ ขสมก. แต่สิ่งที่ตามมาในมติ ครม. ในครั้งนี้ คือ เรื่องหนี้สินของ ขสมก. และการปรับค่าบริการตามมา หากเริ่มจัดหารถโดยสารใหม่เข้าทดแทนรถที่มีอยู่เดิม
ในส่วนของการปรับอัตราค่าโดยสารนั้น หากมีรถโดยสารใหม่มาให้บริการแล้ว ขสมก.จะมีการใช้ตั๋วโดยสารที่เรียกว่า "E-Ticket" ซึ่งจะแบ่งเป็นตั๋วรายเที่ยว รายวันและรายเดือน ซึ่ง ขสมก.ประเมินว่าจะทำให้ประชาชนประหยัด หากใช้บริการดังกล่าว แต่มีเงื่อนไขว่าหากมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และราคาก๊าซเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อกิโลกรัม ขสมก. จะปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 1 บาท อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการใช้ตั๋วเดือน-ตั๋ววันของ ขสมก. ก็เคยมีมาแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยม จนในที่สุดก็กลับมาใช้ระบบเดิม
ที่น่าสนใจยิ่งกว่าการปรับค่าโดยสารและการบริหารจัดการ คือ การบริหารหนี้ของ ขสมก. โดยในครั้งนี้ ขสมก.ได้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการเสริมสภาพคล่อง 2,800 ล้านบาท เป็นเวลาสองปี โดยอ้างว่าหากได้งบประมาณดังกล่าวจะทำให้ ขสมก. มีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) เป็นบวกกว่า 200 ล้านบาท ภายในปี 2557 นั่นหมายถึงว่าปีหน้า ขสมก.จะมีกำไรเกิดขึ้น เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของพนักงานรวม 2.4 พันคน รวมทั้งสร้างอู่จอดและสถานีเติมก๊าซ
คำถามก็คือ การกู้เงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ในครั้งนี้ และของบประมาณสนับสนุนนั้น จะทำให้ ขสมก. มีกำไรได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยได้ล้างหนี้ให้กับ ขสมก. มาหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็กลับเป็นหนี้จำนวนมหาศาลอยู่เช่นเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นลักษณะทั่วไปของบริการสาธารณะที่มักจะขาดทุน แต่ปัญหาของ ขสมก.อาจมีเรื่องภายในอีกมากที่จำเป็นต้องแก้ไข โดยเฉพาะการบริหารจัดการภายในนั้น แทบไม่มีการปรับปรุงใดๆ เลย และเมื่อเปรียบเทียบกับรถร่วมของเอกชนที่เก็บโดยสารอัตราเดียวกัน แต่สามารถอยู่ได้ ก็แสดงให้เห็นว่า ขสมก. มีปัญหาการจัดการอยู่มาก
เราเห็นว่า แม้จะไม่มีมติเรื่องการปรับปรุงการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น นอกจากมติการขอเงินเพื่อใช้ดำเนินการ กระทรวงคมนาคมในฐานะผู้ดูแลจำเป็นต้องเข้าไปดูเรื่องการบริหารภายในด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีแผนการปรับปรุงใดๆ ที่ทำให้การดำเนินการดีขึ้นมาได้ หากไม่สามารถปรับปรุงการดำเนินการ เราเชื่อว่าหนี้ก้อนนี้ในที่สุดก็เป็นภาระของรัฐบาล เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ ที่ ขสมก. จะมีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อมได้ในปีหน้า