มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ก้าวสู่ Mission Net Zero พร้อมหนุนพลังงานไทย

มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ก้าวสู่ Mission Net Zero พร้อมหนุนพลังงานไทย

เอเชียแปซิฟิมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของเมืองใหม่ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งไม่เพียงแต่ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางพลังงาน แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาโซลูชั่นพลังงานที่ยั่งยืน

ประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เวียดนาม กำลังพบกับการเพิ่มขึ้นของการบริโภคพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ มีการคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตขึ้น 25% ในช่วงทศวรรษหน้า

โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าคาดว่าภูมิภาคนี้จะคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสี่ของการเติบโตของความต้องการพลังงานทั่วโลก เนื่องมาจากประชากรที่เพิ่มขึ้น ความเจริญรุ่งเรือง และอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ (ประเทศไทย) มีบทบาทสำคัญในการจัดหาพลังงานให้กับชุมชนและธุรกิจในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2511 และปัจจุบันมีส่วนสำคัญในระบบการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 25 กิกะวัตต์ให้กับระบบพลังงานของประเทศไทย ซึ่งถือว่ามากกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันของประเทศ

มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ก้าวสู่ Mission Net Zero พร้อมหนุนพลังงานไทย

อากิระ ทาคาฮาชิ” ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ็มเอชไอ พาวเวอร์ โปรเจกต์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า การเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงานนำมาซึ่งทั้งความท้าทายและโอกาส ด้านหนึ่งคือความจำเป็นในการประกันความมั่นคงและความสามารถในการจ่ายพลังงาน อีกด้านหนึ่งคือโอกาสพิเศษในการเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน

มิตซูบิชิ พาวเวอร์เสนอโซลูชันที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซ (GTCC) โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ และสนับสนุนด้านการเดินเครื่องและซ่อมบำรุง (O&M)

“โซลูชันพลังงานความร้อนร่วมกังหันก๊าซ (GTCC) ของเราช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทย โดยเพิ่มความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เราได้เสร็จสิ้นโครงการสำคัญในประเทศไทย คือการก่อสร้าง M701JAC เครื่องที่ 8 ซึ่งเป็นเครื่องสุดท้ายของโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติขนาด 5,300 เมกะวัตต์ในจังหวัดระยองและชลบุรี"

โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด โครงการนี้ถือเป็นคำสั่งซื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของมิตซูบิชิ พาวเวอร์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน กังหันก๊าซของโครงการนี้ได้เดินเครื่องเป็นจำนวนรวมกว่า 100,000 ชั่วโมงแล้วและยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง

Mission Net Zero

ภายใต้กลุ่มบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ (MHI) ได้ตั้งเป้าหมาย Mission Net Zero เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ทั่วพื้นที่ดำเนินงานภายในปี 2583 ควบคู่กับความมุ่งมั่นที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

"ทาคาฮาชิ" กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมพันธกิจนี้ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันด้านเทคโนโลยี เรากำลังสำรวจวิถีทางต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความต้องการและภูมิทัศน์ด้านพลังงานที่หลากหลาย ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีก๊าซธรรมชาติเป็นสัดส่วนพลังงานหลัก

"เราตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ไฟฟ้ายังคงมีราคาไม่แพง เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับผู้บริโภคควบคู่ไปกับการก้าวสู่ความยั่งยืนด้านพลังงาน”

Mission Net Zero มี 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก : การเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าก๊าซที่มีอยู่แล้ว โซลูชันพลังงานความร้อนร่วมกังหันก๊าซ (GTCC) ที่มีประสิทธิภาพของ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นนี้ ระบบเหล่านี้ได้รับการทดสอบอย่างเข้มงวดเป็นเวลานานภายใต้สภาวะการทำงานจริงที่โรงงาน T-Point 2 ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าในญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ถึงความน่าเชื่อถือในระดับสูง

ขั้นตอนที่สอง : การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ระบบพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงและผสานรวมกับเทคโนโลยี CCUS ทำให้สามารถดักจับการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากกว่า 90% ในฐานะผู้นำส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกสำหรับการดักจับก๊าซคาร์บอนจากก๊าซไอเสียหลังการเผาไหม้ กลุ่มบริษัท MHI จึงเสนอกลุ่มโซลูชันที่ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า CCUS

ขั้นตอนที่สาม : การสนับสนุนการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงสะอาดอย่างไฮโดรเจน เข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้า โดยในประเทศไทยการเพิ่มความยืดหยุ่นของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซที่มีอยู่แล้วถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการบูรณาการพลังงานหมุนเวียน

การอัปเกรดของ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า เพิ่มอัตราการเริ่มต้นเดินเครื่องและการเร่งความเร็ว และช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นด้วยไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น

ไฮโดรเจนเผาไหม้ร่วม

“ทาคาฮาชิ” อธิบายว่า ปัจจุบันกังหันก๊าซของ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ สามารถใช้ไฮโดรเจนเผาไหม้ร่วมได้สูงสุดถึง 30% โดยวางแผนที่บรรลุเป้าหมายการเผาไหม้ไฮโดรเจนถึง 100% ภายในปี 2573 กังหันก๊าซเหล่านี้จะจัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าโดย เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ (Keppel Infrastructure), เซมบ์คอร์ป อินดัสทรีส์ (Sembcorp Industries) และเมอรันตี พาวเวอร์ (Meranti Power) ในสิงคโปร์ รวมถึงโรงไฟฟ้า Miri CCGT ในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า

นอกจากนี้ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้มีบทบาทด้านพลังงานทั้งภาครัฐและท้องถิ่น เช่น กฟผ. ในประเทศไทย บริษัท TNB Genco ในมาเลเซีย และสถาบันเทคโนโลยีบันดุงในอินโดนีเซีย เพื่อสำรวจเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในตลาดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค

“เราเข้าใจดีว่าการลดการปล่อยคาร์บอนต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลาย ที่โซลูชันเดียวไม่สามารถแก้ได้ทุกปัญหา ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งเน้นการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในท้องถิ่นเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และยั่งยืน”