สานสัมพันธ์พม่า - สหรัฐฯ : ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
ภูมิภาคอาเซียนในช่วงนี้ดูจะได้รับความสนใจในเวทีระดับนานาชาติเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา
นอกจากการรวมตัวของกลุ่มประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้าที่ดูจะดึงดูดความสนใจได้ดีแล้ว ยังมีนโยบาย Rebalancing ของสหรัฐฯ ที่คอยหนุนนำส่งให้บรรดาผู้นำสหรัฐฯ อ้าแขนรับ-โผเข้าหา ภูมิภาคนี้ในแง่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง
ดังเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เข้าพบหารือกับนายจอห์น แคร์รี่ (John Kerry) รัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกา หรือจะเป็นการมาเยือนภูมิภาคอาเซียนของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในช่วงปลายปี 2012 ที่ผ่านมา เป็นต้น
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2013 ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีเทียน เส่ง (Thein Sein) แห่งเมียนมาร์ ในโอกาสที่ผู้นำพม่าได้นำคณะเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี
ในการพบกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างได้ให้แถลงการณ์ ซึ่งต่างกล่าวถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และพม่า ในด้านต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การช่วยเหลือพัฒนา ฯลฯ โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นแถลงการณ์ก่อน ด้วยการกล่าวถึงการพบปะกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศว่าถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากการเยือนของผู้นำพม่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่มีประธานาธิบดีพม่าเข้าเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้บารัก โอบามาก็ได้ทำการเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการครั้งแรกเช่นกันในปลายปี 2012 ที่ผ่านมา
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวต่อไปว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ถึงแม้ก่อนหน้าจะมีความตึงเครียดกันมาโดยตลอด แต่ในตอนนี้กำลังค่อยๆ ดำเนินไปสู่ภาวะที่คลี่คลายความตึงเครียด โดยโอบามาได้กล่าวชื่นชมถึงความพยายามอย่างจริงจังของผู้นำพม่าฯ คนปัจจุบัน ในปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง การพัฒนาประชาธิปไตย และคลี่คลายปัญหาต่างๆ ในประเทศ ดังเห็นได้จากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อไม่นานมานี้ เช่น การปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบหลายปี การเริ่มดำเนินการร่างกฎหมายอันชอบธรรม การส่งเสริมสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในบรรดาพลเมือง หรือประชาชนในสังคมพม่า ความพยายามในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงการให้ความร่วมมือในเวทีนานาชาติผ่านการประชุมต่างๆ เป็นต้น
ด้วยสหรัฐอเมริกาเล็งเห็นดีถึงพัฒนาการในประเทศพม่าที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาจึงกล่าวต่อไปว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนพม่า รวมถึงพร้อมที่จะผ่อนคลายมาตรการการคว่ำบาตรต่อพม่าอีกด้วย ในตอนนี้เอง องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงบรรดาชาติต่างๆ เริ่มทยอยเข้าไปยื่นมือให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่พม่า และในโอกาสนี้เองที่จะช่วยกระตุ้นให้พม่ามีบรรยากาศแห่งการลงทุน และสามารถดึงดูดบรรดานักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติทั่วทุกมุมโลกเพื่อมาลงทุนในพม่า ซึ่งเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรอันมีประโยชน์ต่อการลงทุน
ผู้นำสหรัฐฯ ปิดท้ายบทแถลงการณ์ของเขาได้อย่างสวยงาม ด้วยการกล่าวว่าถึงแม้ว่าวิถีที่พม่ากำลังจะเดินไปสู่จะมีอุปสรรคขวากหนามให้ฝ่าฟันอีกมากมาย หนทางข้างหน้าของพม่าในการปฏิรูปประเทศจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่สหรัฐอเมริกาก็พร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุนพม่าอย่างเต็มที่
เมื่อถึงคราวที่นายพลเทียน เส่ง ให้แถลงการณ์ ผู้นำพม่าได้เริ่มโดยการกล่าวขอบคุณสหรัฐอเมริกาสำหรับการอำนวยความสะดวก และการให้การช่วยเหลือต่างๆ ที่สหรัฐฯ มอบให้ โดยประธานาธิบดีพม่าได้กล่าวต่อไปว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของพม่า พม่ากำลังเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทางการเมือง กำลังริเริ่มและก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดีพม่ายังคงต้องเรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ อีกอันมาก
ในการปฏิรูปประเทศนี้ แน่นอนว่าพม่าเองต้องเผชิญกับความยากลำบากในด้านต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคม การพัฒนาประชาชน ปัญหาการว่างงาน ฯลฯ โดยปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาในแง่ของสังคม ที่จะต้องใช้เวลาในการแก้ไขและพัฒนา
ในตอนท้าย ผู้นำของพม่าได้เน้นย้ำอีกครั้งว่าการมาเยือนสหรัฐอเมริกาคราวนี้เป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะของพม่าเอง เวทีนี้จะทำให้ทั่วโลกได้เห็นว่าพม่ามีความพยายาม และความตั้งใจอย่างแท้จริงในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ และความพยายามครั้งนี้จะลุล่วงไปไม่ได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือจากพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และบรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยพม่าย้ำคำสัญญาว่าจะสถาปนาประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพม่าให้จงได้
หลังจากที่มีความบาดหมางกันมาอย่างยาวนาน พม่า-สหรัฐฯ ก็สามารถกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดี และเริ่มคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างกันได้ในที่สุด
แน่นอนว่าการณ์นี้มิได้ส่งผลกระทบแค่ระหว่างสองประเทศ แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างต้องจับตามอง โดยเฉพาะบรรดานักลงทุนจากมุมต่างๆ ทั่วโลก ที่นี่อาจจะเป็นโอกาสทองในแสวงหากำไร ด้วยบรรยากาศแห่งการส่งเสริมการลงทุนที่กำลังถูกสนับสนุนอย่างยิ่งในพม่า รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ที่พม่ามีอย่างมากมาย