เปลี่ยนมุมคิด “สหกิจศึกษา”

เปลี่ยนมุมคิด “สหกิจศึกษา”

ความสำคัญของหลักสูตรอาชีวะศึกษาไม่เพียงเป็นระบบการศึกษาทางเลือกที่นอกเหนือไปจากสายสามัญที่บ้านเรานิยมให้บุตรหลานเรียนกันเป็นส่วนใหญ่

แต่ยังเป็นทางออกของการพัฒนาประเทศที่เอื้อให้สถาบันการศึกษาป้อนบุคลากรด้านต่างๆ ให้ภาคอุตสาหกรรมโดยตรง

แนวคิดนี้ใช้ได้ผลกับหลายประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ที่ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษามากจนทำให้ผู้จบอนุปริญญามีรายได้เท่ากับบัณฑิตปริญญาตรี ตรงกันข้ามกับบ้านเราที่นิยมใช้ปริญญาเป็นใบเบิกทางจนมีแต่คนจบสายสามัญเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็น

สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ร่ำเรียนมาในสายสามัญแม้ว่าจะมีความพยายามจัดตั้ง “สหกิจศึกษา” เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในสถานที่ทำงานจริงในช่วงปี 3-4 ก่อนจบการศึกษา แต่ทางปฏิบัติจริงยังถือว่าประสบความสำเร็จไม่มากนัก

เพราะหลายๆ องค์กรที่เข้าร่วมฝึกนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ยังไม่กล้ามอบหมายงานให้เขาอย่างที่ควรจะเป็น สุดท้ายจึงกลายเป็นงานพื้นๆ เช่น ถ่ายเอกสาร เย็บเล่ม และงานสัพเพเหระต่างๆ จึงไม่เพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานที่มีประโยชน์ให้เขาเลย

ขณะที่เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากก็มุ่งหวังจะเรียนจบไวๆ เพื่อหางานรายสูงๆ ทั้งที่ตัวเองยังไม่มีประสบการณ์ องค์กรธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้เวลาฝึกปรือเพิ่มความรู้ให้บัณฑิตใหม่เหล่านี้อีกหลายเดือน กลายเป็นภาพที่ขัดแย้งกันทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

แนวคิดสหกิจศึกษานั้นไม่ผิด และผมเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ระบบการเรียนรู้ในโลกธุรกิจจริงเกิดผลประโยชน์สูงสุดทั้งกับนิสิตนักศึกษา สถาบันการศึกษา และองค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ

คำตอบน่าจะอยู่ที่การปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง คือแทนที่จะให้การทำงานเป็นเพียงส่วนประกอบของหลักสูตรการศึกษา เปลี่ยนเป็นการทำงานควบคู่ไปกับหลักสูตรโดยเฉพาะการเรียนในสายอาชีวะซึ่งต้องมีประสบการณ์มากกว่านี้

ผมเชื่อว่าการขับเคลื่อนขององค์กรทุกแห่งไม่ได้อาศัยเพียงบุคลากรระดับหัวกะทิ แต่ขึ้นอยู่กับบุคลากรระดับกลางที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นกลไกหลักที่จะสร้างสินค้าและบริการที่ดีและมีคุณภาพป้อนสู่ตลาดได้

การเข้าสู่วงจรทำงานไม่ใช่เพียงให้โอกาสนักศึกษาอาชีวะเข้ามาทำงานร่วมเท่านั้น แต่ต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสมและเอื้อให้นักศึกษาทำงานควบคู่ไปกับการเรียนวิชาการอย่างต่อเนื่อง หลักสูตร ปวช. และปวส. ต่อไปถึงปริญญาตรี อาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากับหลักสูตรเดิม เช่น ปวช. ใช้เวลา 3 ปีก็อาจเพิ่มเป็น 4-5 ปี โดยแต่ละสัปดาห์อาจเปิดให้เรียนทฤษฎีในห้องเรียนเพียง 1-2 วัน ที่เหลือเป็นการทำงานจริง

วิธีนี้เป็นการแก้ปัญหานักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วยรายได้จากการทำงานจริง ไม่ต้องเป็นภาระของพ่อแม่ และแนวคิดนี้ก็ประยุกต์ใช้ได้จนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานเช่นกัน

แต่ละปีเราจะเห็นเด็กเรียนดีแต่ขาดโอกาสศึกษาต่อเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริมไทยทำให้ผมเห็นว่าแต่ละโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนที่ศึกษาต่อระดับมัธยมปลายเพียงไม่ถึงครึ่ง

แม้ภาครัฐจะมีนโยบายเรียนฟรี 12 ปีแต่ในโลกความเป็นจริงเด็กนักเรียนเหล่านี้ก็เป็นภาระของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูอยู่ดี การเปิดโอกาสให้เขาทำงานเพื่อสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับการเรียนจึงน่าจะดึงเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ไม่น้อย