จับตาทุนญี่ปุ่น บุกตลาดการเงินไทย
ภาพการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในขณะนี้ กำลังเปลี่ยนหน้าตาใหม่ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จ
ของกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่คิดจะใช้ประเทศไทยเป็นประตูด่านสำคัญเชื่อมห่วงโซ่ธุรกิจต่อยอดไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะเกิดการรวมตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้วยการเข้าซื้อหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) จากจีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (GECIH) ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1.7 แสนล้านบาท
ครั้งนี้ไม่ใช้ครั้งแรกที่กลุ่มทุนญี่ปุ่นออกมาขยายธุรกิจการเงินนอกประเทศ ก่อนหน้านี้ กลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจเองได้เข้าหุ้นธนาคารเวียดติน (VietinBank) ของเวียดนาม ขณะที่กลุ่มซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป เข้าซื้อหุ้นในธนาคารอินโดนีเซียด้วยเม็ดเงินกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้ ส่วนในประเทศไทยนอกจากมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ แล้วกลุ่มทุนจากญี่ปุ่นอีก 2 รายที่สนใจกิจการทางการเงินของไทยเช่น บริษัท ซูมิโตโม ไลฟ์ อินชัวรันส์ และบริษัท เมจิ ยาสึดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ บริษัทประกันชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างช่วงชิงการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทไทยประกันชีวิต
แม้ว่ามิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group: MUFG) สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดราว 8.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเทียบส่วนแบ่งทางการตลาดในญี่ปุ่นอาจจะไม่มากนัก ด้วยปริมาณสถาบันการเงินกว่า 120 แห่งในญี่ปุ่น เคยมีผู้รู้ท่านหนึ่งให้ความรู้ว่าแบงก์ในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ City Banks ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่น Regional Banks เป็นธนาคารที่มีบทบาทสำคัญในจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น และ Foreign Banks คือธนาคารต่างประเทศในญี่ปุ่นนั่นเอง แต่ละประเภทมีส่วนแบ่งทางการตลาดพอ ๆ กันที่ 30% โดยธนาคารโตเกียวมิตซูบิชิ ยูเอฟเจอยู่ในกลุ่ม City Banks ที่มีสมาชิกในกลุ่มเพียง 5 ธนาคาร แม้จะใหญ่ที่สุด แต่ส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 10%
จริงแล้ว BTMU เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยกว่า 40 ปีแล้ว มีขนาดสินทรัพย์ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 อยู่ที่ 596,201 ล้านบาท เป็นเงินให้สินเชื่อ 217,620 ล้านบาท ที่ผ่านมาขยายสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับ 5 ของไทยด้วยขนาดสินทรัพย์ 1,022,996 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ 713,326 ล้านบาท โด่ดเด่นทางด้านธุรกิจรายย่อย ฐานลูกค้ามากกว่า 6.2 ล้านบัญชี มีเครือข่ายสาขารวม 601 สาขา และช่องทางการขายกว่า 19,000 แห่งทั่วประเทศ
การร่วมมือกันครั้งนี้มีแต่จะทำให้เกิดความครบเครื่องกับสถาบันการเงินแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการเข้าซื้อธนาคารขนาดกลางของไทยที่มีสถานะการเงินที่ดีอยู่ด้วย น่าจะสามารถใช้ศักยภาพด้านธุรกิจรายใหญ่ ที่ BTMU เชี่ยวชาญมาเชื่อมโยงต่อเป็น Supply Chain มายังกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและย่อม ที่กระจายไปตามเครือข่ายของธนาคารกรุงศรีได้อีกด้วย
ว่ากันว่า ตลาดสถาบันการเงินไทยเป็นตลาดปราบเซียน ฝรั่งต่างชาติที่เข้ามาไม่มีใครประสบความสำเร็จ หรือสร้างความโด่ดเด่นในประเทศไทยได้ ซึ่ง BTMU อาจจะเริ่มได้กลิ่นนี้บ้าง เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ได้การซื้อขายหุ้นจากจีอี กว่าจะตกลงได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะด่านของกลุ่มรัตนรักษ์ที่เป็นตระกูลเก่าแก่ผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งนี้มาแต่แรกเริ่ม แม้ในขณะนี้ทางกลุ่มรัตนรักษ์จะแถลงว่ายินดีร่วมมือกับ BTMU แล้วก็ตามแต่ในระยะต่อไปก็ต้องติดตามว่าตลาดไทยจะยอมรับเซียนจากแดนปลาดิบจริงหรือไม่