Social Mobility

Social Mobility

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสชมสารคดีของ BBC ทางยูทูปเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า Who gets the best jobs?

สารคดีเรื่องนี้เป็นสารคดีที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ Social Mobility ในสังคมอังกฤษ หรือโอกาสของคนอังกฤษที่เป็นชนชั้นล่าง ที่จะเลื่อนชนชั้นทางสังคมของตัวเอง ว่ามีมากน้อยแค่ไหน และอังกฤษก็ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเลื่อนระดับของชนชั้นทางสังคมค่อนข้างยาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ

เวลาพูดถึงความเท่าเทียมกันทางสังคมนั้น ในโลกเสรีเราไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจเท่ากันหมด แต่เราหมายถึง การที่คนที่มีความขยันและความเก่งเท่าๆ กัน ควรจะได้รับโอกาสในการหารายได้หรือได้รับหน้าที่การงานที่เท่ากัน ไม่ถูกแบ่งแยกหรือกีดกันด้วยคุณสมบัติอย่างอื่นที่อยู่นอกประเด็น อาทิเช่น ชาติตระกูล เชื้อชาติ เพศ สีผิว ถิ่นกำเนิด หรือฐานะของครอบครัว เป็นต้น

อังกฤษทุกวันนี้แม้จะมีกฎหมายที่ป้องกันมิให้มีการกีดกันโอกาสในการทำงานที่ไม่เป็นธรรมหลายอย่างแล้ว แต่ก็พบว่ากำแพงสำหรับตำแหน่งงานที่ดีที่สุดก็ถูกจำกัดด้วย ฐานะทางการเงิน และ ความสัมพันธ์ส่วนตัว อยู่มาก ตัวอย่างเช่น งานที่มีคนแย่งกันทำมากๆ เช่น Fashion Designer หรือ นักการเงิน นั้น ส่วนใหญ่จะ recruit มาจากเด็กฝึกงาน ซึ่งคุณจะต้องรู้จักคนที่อยู่ในอาชีพนี้อยู่แล้ว ถึงจะมีโอกาสเข้าไปเป็นเด็กฝึกงานได้ และเนื่องจากจำนวนผู้ที่เข้ามาแข่งขันกันเป็นเด็กฝึกงานนั้นมีเยอะมากๆ นายจ้างจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างให้เลยในระหว่างที่ฝึกงาน (ให้ทำฟรี ก็ยังแย่งกันทำ) ด้วยเหตุนี้ คนที่จะสามารถฝึกงานจนได้รับการบรรจุได้ จะต้องมีเงินมากพอที่จะทำงานหลายเดือนโดยไม่รับค่าจ้าง อีกทั้งงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในลอนดอน ซึ่งค่าที่พักในลอนดอนนั้นแพงลิบลิ่ว นอกจากพวกเขาจะไม่มีรายได้ใดๆ ระหว่างที่ฝึกงานแล้ว พวกเขายังต้องออกค่าที่พักและค่าเดินทางเองทั้งหมดด้วย ข้อจำกัดเหล่านี้กลายมาเป็นกำแพงของการกีดกันทางอาชีพสมัยใหม่ ที่คนที่มีเส้นสายและฐานะทางบ้านที่ดีกว่า มีความได้เปรียบ

อาชีพวิชาชีพอย่าง นักกฎหมาย และแพทย์ ในอังกฤษก็เช่นกัน สถิติพบว่า ผู้ที่สอบเข้าแพทย์หรือสอบเนติบัณฑิตได้ จะเรียนจบมาจากโรงเรียนเอกชน เป็นส่วนใหญ่ แต่โรงเรียนเอกชนมีค่าเทอมที่สูงลิ่ว และสำหรับอาชีพแพทย์นั้น การเรียนต่อเฉพาะทาง โรงพยาบาลจะต้องรับนักเรียนแพทย์เหล่านั้นให้มาเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาล ซึ่งเส้นสายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่โรงพยาบาลจะรับ อาชีพแพทย์ในอังกฤษเป็นอาชีพที่เป็นคนที่มาครอบครัวเดียวกันมากที่สุด เพราะคนที่มีบิดามารดาเป็นแพทย์ ย่อมมีโอกาสที่ดีกว่าที่จะได้เรียนเฉพาะทาง

บางคนมีทฤษฎีว่า คนรวยมีพันธุกรรมที่ดีกว่า จึงคลอดลูกที่ฉลาดกว่าออกมา จึงเป็นเรื่องปกติที่ลูกคนรวยจะได้เรียนในโรงเรียนหรือได้ประกอบอาชีพที่ดีกว่า แต่สารคดีนี้ก็ได้ชี้ประเด็นว่า ถ้าหากทฤษฎีนี้เป็นความจริง ระดับ Social Mobility ของทุกประเทศก็น่าจะออกมาเหมือนๆ กัน แต่ทำไมประเทศที่มีมาตรการเรื่องการสร้างความเท่าเทียมกันสูงกว่า เช่น ฟินแลนด์ หรือ ออสเตรเลีย ถึงมีระดับ Social Mobility ที่ดีกว่าประเทศอังกฤษ มาก นั่นแสดงว่า พันธุกรรมไม่ใช่สิ่งที่อธิบายชนชั้นทางสังคม แต่เป็นเรื่องของการที่คนที่มีฐานะทางบ้านต่ำกว่ามีทรัพยากรน้อยกว่าที่จะแข่งขันกับคนที่รวยกว่าอย่างเท่าเทียม และถ้าหากเราพยายามลดช่องว่างเหล่านี้ลง ทุกคนในสังคมก็ย่อมมีโอกาสได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งทำให้สังคมโดยรวมได้ประโยชน์

อีกคำอธิบายหนึ่งที่ได้ยินบ่อยคือ บางคนอธิบายว่า คนจนมีแรงผลักดันตัวเองน้อย (Drive for Success) ทำให้ประสบความสำเร็จน้อยกว่า สารคดีนี้ได้พาเราไปยังท้องถิ่นหนึ่งในอังกฤษที่มีอัตราของเด็กที่จบปริญญาตรีน้อยที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นย่านคนจนนั่นเอง วิทยากรถามเด็กๆ ว่า โตขึ้นพวกเขาอยากเป็นอะไร เด็กส่วนใหญ่ตอบว่าอยากเป็นดารานักร้อง วิทยากรถามกลับว่าไม่คิดว่ามันเป็นไปได้ยากหรือ เด็กส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่ เพราะดาราหลายคนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนยังทำสำเร็จมาแล้ว พอวิทยากรถามว่า แล้วอาชีพอย่าง นักกฎหมาย หรือนักการเงิน ล่ะ ไม่อยากเป็นเลยหรือ พวกเด็กๆ ตอบว่า ไม่เลย เพราะไม่เคยมีใครบอกว่าพวกเขาว่าจะไปสู่อาชีพเหล่านั้นได้อย่างไร พวกเขาไม่รู้อะไรเลย และโอกาสที่จะเป็นไปได้มีน้อยมาก

ทั้งที่จริงๆ แล้ว โอกาสที่คนคนหนึ่ง จะได้เป็นดารานักร้องนั้นมีน้อยกว่าโอกาสที่จะได้เป็นนักกฎหมายหรือนักการเงินอย่างมาก

นั่นแสดงให้เห็นว่า เด็กยากจนไม่ได้ขาดแรงผลักดัน พวกเขาอาจจะกล้าคิดมากเกินไปด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่พวกเขาขาดคือโอกาส ที่จะได้ใกล้ชิดหรือเข้าถึงอาชีพบางอย่างซึ่งมีแต่ลูกของคนที่มีฐานะดีเท่านั้นที่จะมีคนคอยบอกว่าพวกเขาจะไปสู่อาชีพเหล่านั้นได้อย่างไร