"ครบวงจร" กับ "ผูกขาด" ความเหมือนหรือแตกต่าง?
เมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นข่าวลงหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงการจะเข้าซื้อ เทสโก้ ไฮเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษ
ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งเครือซีพี ซึ่งก็มีการวิเคราะห์ประเด็นนี้ว่าเป็นการ “ผูกขาด” การดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จากกรณีดังกล่าวทำให้คิดถึงคำอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “ครบวงจร” และก็เกิดคำถามตามมาว่าคำสองคำนี้มีความเหมือนกัน หรือแตกต่างกันหรือไม่ เพราะเหตุผลอะไร
ก่อนอื่นผมขอเริ่มทำความเข้าใจจากนิยามของคำว่า “ผูกขาด” และ “ครบวงจร” เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของปฏิบัติการทั้ง 2 แบบ เริ่มจากนิยามของคำว่า “ผูกขาด” (Monopoly) หมายถึงสถานการณ์ที่ตลาดมีผู้ผลิตหรือผู้ขายเพียงรายเดียวเท่านั้น ในขณะที่ผู้ซื้อหาสินค้าอื่นมาทดแทนสินค้าของผู้ผูกขาดยาก และผู้ผลิตรายอื่นก็ไม่สามารถเข้ามาผลิตเพื่อแข่งขันได้เลย เพราะจะถูกกีดกันหรือมีอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาด มักเรียกการผูกขาดในความหมายนี้ว่า การผูกขาดอย่างแท้จริง (pure monopoly) หรือการผูกขาดอย่างสมบูรณ์ (absolute monopoly) ซึ่งอุปสงค์ที่ผู้ผลิตในตลาดประเภทนี้ต้องเผชิญก็คืออุปสงค์ของตลาดนั้นเอง ผู้ผูกขาดอย่างแท้จริง จะมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าหรือปริมาณสินค้าในตลาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างเต็มที่ แต่จะกำหนดทั้งสองอย่างพร้อมๆ กันไม่ได้ ตัวอย่างของตลาดที่มีลักษณะเช่นนี้ ได้แก่ การประปา การไฟฟ้า กิจการรถไฟ เป็นต้น
ขณะที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ระบุว่า “ผู้มีอำนาจเหนือตลาดจะต้องมีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปและมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไปและมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป” นอกจากนี้ก็ยังมีคำกล่าวอ้างตามมาถึง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าว่าต้องมีการคำนวณส่วนแบ่งและขอบเขตตลาดที่ชัดเจน โดยตลาดหนึ่งๆ ควรครอบคลุมผลิตภัณฑ์เดียว เช่น ตลาดเบียร์ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทุกชนิด หากนับรวมแอลกอฮอล์ทั้งหมดก็อาจทำให้ดูว่า ส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตเบียร์นั้นไม่มาก เป็นต้น
จากการรวบรวมรายละเอียดเพื่อการวิเคราะห์ก็พบว่า ถึงแม้กลุ่มซีพีจะซื้อเทสโก้จริง แต่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่น BigC Super center, Tops Supermarket The Mall Central ก็ยังสามารถแข่งขันกับเทสโก้ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการผูกขาด แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ ทางกลุ่มซีพีกลับตกเป็นจำเลยว่าดำเนินธุรกิจแบบผูกขาด หากถ้ามองด้วยใจที่เป็นธรรมแทนความรู้สึกและหลักการแล้ว ก็จะมีคำตอบว่านี่คือวิถีธุรกิจ
ส่วนนิยามของคำว่า “ครบวงจร” (Integrated) หมายถึงการผลิตสินค้า/ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เช่น ลูกค้าต้องการสร้างบ้านแล้วไปหาบริษัทสร้างบ้าน บริษัทนี้ก็จะมีตั้งแต่หาที่ดินให้ มีทีมงานออกแบบบ้านให้ ลูกค้าต้องการตกแต่งเพิ่มเติมก็มีสถาปนิกและอินทีเรียให้ หากต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่ม ก็มีบริษัทขายเฟอร์นิเจอร์ให้อีก พอสร้างบ้านเสร็จ อยากจัดสวนก็มีบริการจัดสวน อยู่บ้านไปสักพักมีปัญหาก็มีทีมช่างคอยดูแลซ่อมแซม โดยในระหว่างทางของต้นทางถึงปลายทางนั้น บริษัทดังกล่าวอาจดำเนินการด้วยตนเองหรือติดต่อซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อมาร่วมกันขายสินค้า/บริการในแต่ละช่วงก็ได้ ซึ่งธุรกิจอาหารของซีพีจะเห็นได้มีการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางในเรื่องของแหล่งวัตถุดิบ คุณภาพ และมาตรฐาน
อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจครบวงจรของ CP จึงเข้าข่ายการผลิตสินค้าคุณภาพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการแข่งขันที่ควรจะเป็น ทุกวันนี้ธุรกิจครบวงจรรูปแบบเดียวกับซีพีก็มีหลายบริษัทที่ดำเนินการอยู่ หากสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพทัดเทียมหรือสูงกว่าในราคาที่ถูกกว่าได้ ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย
อีกทั้งระบบครบวงจรนั้น ยังไม่ใช่การผูกขาดการผลิตแต่เพียงผู้เดียวด้วย ซึ่งจะพบว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการเองในทุกขั้นตอน แต่จะแบ่งหน้าที่ แบ่งงานกันทำ มีการทำงานร่วมกับเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์ม ซัพพลายเออร์ คู่ค้า ตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นการกระจายงานกระจายอาชีพและสร้างรายได้ ลดความเสี่ยงด้านการค้า สิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจระบบครบวงจร ก็คือต้องครบวงจรและต่อเนื่องจริงๆ เกือบทุกอุตสาหกรรมล้วนเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ และเทคโนโลยี ตลอดจนการตลาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีระยะเวลาจำกัด เนื่องจากทั้งสัตว์และพืชเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ระบบครบวงจร จำเป็นต้องวางแผนให้เกิดความพอดีทุกขั้นตอน เร็วไปก็ไม่ได้ ช้าไปก็ไม่ได้ จึงอาจเห็นว่าทุกขั้นตอนต้องมีมาตรฐานเข้ามาตรวจจับ เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด เพราะหากเกิดข้อบกพร่องเพียงขั้นตอนเดียวหรือคุณภาพมาตรฐานไม่ได้ ก็ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในธุรกิจ และก็จะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในตลาด
สำหรับเหตุผลของการที่ธุรกิจดำเนินการแบบครบวงจรนั้น ในแง่ของการจัดการเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจจะต้องมีการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เรียกว่า กลยุทธ์การขยายตัวแบบรวมตัว (Integrative growth Strategy) ซึ่งเป็นการค้นหาโอกาสในการขยายตัวจากระบบการดำเนินของธุรกิจ โดยเป็นการรวมตัวในแนวดิ่ง (Vertical Integration) ประกอบด้วยการรวมตัวไปข้างหลัง (Backward Integration) เช่น การเป็นผู้ขายวัตถุดิบ (ปัจจัยการผลิต) หรือการรวมตัวไปข้างหน้า (Forward Integration) เป็นความพยายามหาโอกาสจากการขยายตัวในการบริหารธุรกิจในการจัดจำหน่ายเป็นคนกลาง/ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอง รวมทั้งการรวมตัวในแนวนอน (Horizontal Integration) ที่เป็นการขยายตัวของสายผลิตภัณฑ์หรือสาขา
ถึงบรรทัดนี้ ก็น่าจะพอเห็นภาพความแตกต่างของคำว่า “ครบวงจร” และ “ผูกขาด” ได้ชัดเจนมากขึ้น และสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ธุรกิจครบวงจร จะนำไปสู่การผูกขาดได้หรือไม่ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น อย่าลืมว่า ธุรกิจครบวงจรนั้นที่มีความยากลำบากอยู่ในตัว หากไม่มีประสิทธิภาพจริงคงดำเนินธุรกิจต่อไม่ได้
และผู้เขียนอยากเห็นการเกิดของธุรกิจครบวงจรในประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง หรือ เล็ก ซึ่งหากใครสามารถทำครบวงจรในลักษณะ One Stop Service ได้ โดยให้บริการกับผู้บริโภคตั้งแต่ความต้องการเริ่มแรกไปจนจบได้ นั่นหมายถึง ความสามารถของธุรกิจไทย หรือ SME ไทย ที่มีความพร้อมและความได้เปรียบทางการแข่งขันรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและในตลาดโลกที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอย่ายัดเยียดคำว่า “ผูกขาด” ให้กับธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต้องเสียกำลังใจ