ออกกฎหมายดิจิทัล ต้องฟังความเห็นรอบด้าน
ความเคลื่อนไหวต้านกฎหมายดิจิทัล ทยอยเปิดหลายเวทีเรียกร้องกระทำอย่างรอบคอบ
ฟังความเห็นรอบด้าน แก้ไขกฎหมายอย่างเปิดเผย มีลำดับขั้นตอน ขณะเดียวกันสร้างความชัดเจนทั้งเรื่องบทบาท หน้าที่ อำนาจ รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรซึ่งมีโอกาสเกิดความซับซ้อน ไม่เท่าเทียม สร้างการมีส่วนร่วม ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริง มิใช่มุ่งตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาแก้ปัญหา เช่นนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค (กสทช.) แสดงความเห็นว่า ต้องสร้างความชัดเจนทั้งเรื่องบทบาท หน้าที่ อำนาจ รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรซึ่งมีโอกาสเกิดความซับซ้อน ไม่เท่าเทียม รัฐควรทำให้การมีชีวิตอยู่บนโลกไซเบอร์มีกติกาและสงบสุข การรับมือสงครามไซเบอร์สำคัญต้องเตรียมการรองรับไม่ใช่การเข้าไปสอดส่องคนบนโลกไซเบอร์ พร้อมแนะแนวทางการทำงานน่าจะเริ่มจากการตั้งโจทย์ก่อนหาคำตอบ ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อมทั้งด้านผู้ใช้ ผู้ให้บริการ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และออกกฎหมายเฉพาะที่จำเป็น
ขณะที่นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) เห็นว่าร่างกฎหมายชุดนี้ โดยรวมไม่ได้เอื้อต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งยังเพิ่มความกังวลในหลายๆ ประเด็น เช่นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การให้อำนาจรัฐที่มากเกินไป กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคบางอย่างหายไป ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่มีความคลุมเครือ ซึ่งรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลต้องมาพร้อมความเชื่อมั่น สร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียม แต่จากกฎหมายดังกล่าวยังไม่เห็น หรือตอบโจทย์อย่างชัดเจน ซึ่งภาครัฐต้องแสดงความชัดเจนออกมาประกอบด้วยการสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับประชาชน ผู้ประกอบการ ว่าจะไม่ถูกดักฟัง สอดแนมข้อมูลส่วนบุคคลหรือทางการค้าโดยไม่มีเหตุอันควร ควบคู่กับการพัฒนาเสถียรภาพ ความปลอดภัยระบบ เปิดทางให้แข่งขันเท่าเทียม เปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเงินลงทุนน้อย และทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น
ส่วนนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ ประเด็นการจัดสรรคลื่นความถี่จะตกอยู่กับกลุ่มทุนที่ไม่ต้องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่โปร่งใส ประชาชนได้ประโยชน์น้อยมาก ที่ได้ชัดเจนคือหน่วยงานราชการจนดูเหมือนเป็นจังหวะสำคัญที่จะขยายอาณาจักรของตัวเองให้กว้างขวางขึ้น ดึงทรัพยากรมาก่อน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งมอบอะไร ส่วนด้านการเมืองและสังคม ไม่มีความสมดุลระหว่างสิทธิ เสรีภาพ และประเด็นความมั่นคง เสมือนออกกฎหมายเพื่อรัฐและความมั่นคงและการเมืองมากกว่าประชาชน ทั้งไม่ผ่านกระบวนการปรึกษา หารือจากภายนอกหรือแม้แต่หน่วยงานราชการด้วยกัน ที่ผ่านมาการชี้แจงในหลายๆ ประเด็นจากผู้อำนาจเกี่ยวข้องก็ยังไม่ตรงประเด็น
ทั้งนี้ หากไม่สามารถชะลอ หรือถอนร่างกฎหมายออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน คณะทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยืนยันเดินหน้าต่อไป เราเห็นด้วยว่า ต้องกระทำอย่างชัดเจน มีผู้รับผิดชอบต่อผลพวงที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม และทำงานภายใต้ธรรมาภิบาล รัฐต้องมอบหลักประกันว่าการออกกฎหมายต้องตรงตามเจตนารมณ์ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มิใช่มองเฉพาะมุมความมั่นคง