ZBB กับ ภาคเอกชน (จบ)
งบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ หรือ Zero-based budgeting ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะภาครัฐเท่านั้น
ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายโดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน
นักวิชาการอิสระ / รองประธานอนุ กมธ. วิสามัญสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สปช.
แท้จริงแล้ว ภาคธุรกิจยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายโดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนที่เรียกว่า Cost Management ทั้งนี้เพราะบริษัทที่เจริญเติบโตย่อมมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านการขาย งานทั่วไป และการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งเกินกว่ารายได้ที่บริษัทหาได้ ผู้บริหารขององค์กรอาจมีวิธีการลดต้นทุนได้หลากหลาย เช่น การตัดงานบางส่วนให้ภายนอกทำ (Outsourcing) จัดตั้งหน่วยงานด้านการผลิตในต่างประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าและอยู่ใกล้วัตถุดิบมากกว่า (Off shoring) หรือลดต้นทุนเป็นการเฉพาะกาลเป็นครั้งคราว แต่วิธีการเหล่านี้อาจมิใช่การลดต้นทุนที่ถาวรและยั่งยืน
แต่ถ้าผู้บริหารองค์กรนำเอาหลักการของการทำงบประมาณที่เริ่มจากศูนย์หรือ Zero-based Budgeting มาใช้ จะสามารถช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและยั่งยืนด้วยเหตุผลที่ว่าวิธีการทำงบประมาณเช่นว่านี้เป็นการสร้างวัฒนธรรมการควบคุมต้นทุนที่ยั่งยืนกว่า และระดับการลดต้นทุนยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารที่รับผิดชอบตามเป้าหมายขององค์กร จากระดับบนลงสู่ระดับล่างซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการ การเริ่มต้นการจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องของทีมจากส่วนกลาง (Team Center) ที่จะทำหน้าที่ประสานเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร ประโยชน์ของวิธีทำงบประมาณเช่นว่านี้สามารถขยายผลไปถึงเรื่องอื่นๆ อาทิ เรื่องธรรมาภิบาล (Governance) เรื่องความถูกต้องเชื่อถือได้ (Accountability) ความชัดเจน (Visibility) การจูงใจ (Incentives) ตลอดจนการทำให้กระบวนการบริหารจัดการมีความมั่นคง และท้ายที่สุดคือทำให้สามารถผลักดันองค์กรธุรกิจให้เจริญเติบโตด้วยการขจัดส่วนที่ไม่ทำให้เกิดผลิตภาพ มาสู่ส่วนที่ทำให้เกิดผลผลิตมากกว่า ทำให้องค์กรเติบโตขึ้นอย่างถูกทิศทาง
วิธีจัดทำงบประมาณขององค์กรภาคเอกชนที่ใช้วิธี ZBB เพื่อสร้างความยั่งยืนของการประหยัดอย่างคุ้มค่าและมีนัยสำคัญถือเป็นบทบาทสำคัญยิ่งกว่าเพียงแค่เรื่องการทำงบประมาณเริ่มจากศูนย์ โปรแกรม ZBB ระดับโลกสามารถสร้างวัฒนธรรมของการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขององค์กร จากการที่เห็นต้นทุนในภาพที่ชัดขึ้น สร้างธรรมาภิบาลในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นในทุกระดับขององค์กร สร้างแรงจูงใจ และทำให้กระบวนการทั้งหลายที่ดำเนินการเป็นปกติ เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ไม่เกิดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ความประหยัดมีผลถึงระดับล่างขององค์กร เพราะส่วนที่ไม่เป็นผลดีต่อผลผลิตได้ถูกขจัด จนเหลือแต่ส่วนที่สร้างผลผลิตที่จะผลักดันให้องค์กรเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
สำหรับประเทศไทยที่ไม่คุ้นเคยกับระบบวิธีการจัดทำงบประมาณแบบเริ่มต้นจากศูนย์ หรือที่เรียกว่า Zero-based Budgeting (ZBB) นี้อาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อได้เริ่มไประยะหนึ่ง ก็น่าจะช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณลื่นไหลได้อย่างไม่ยากนัก ในอดีต สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดของการจัดทำงบประมาณเช่นว่านี้คือเรื่องข้อมูลจำนวนมากที่ต้องรวบรวมเพื่อวิเคราะห์ ซึ่งต้องใช้เวลาและบุคลากรจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน จากการที่เราสามารถใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดกระทำข้อมูล กระบวนการรวบรวมวิเคราะห์ ตลอดจนการเรียงลำดับประโยชน์ที่ได้มาจากหลายทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างไม่ยุ่งยากอีกต่อไป และถ้าบุคลากรได้รับการฝึกอบรมอย่างพอเพียงก็จะทำให้การจัดทำงบประมาณในรูปแบบนี้เป็นประโยชน์กับรัฐบาลอย่างมาก
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สัมพันธ์ระหว่างระดับบนที่ทำงบประมาณให้ระดับล่างมาบริหารงบที่ตนมิได้เป็นผู้พิจารณาตั้งแต่ต้น จะลดลง การทุจริตคอร์รัปชันที่มาจากการใช้งบประมาณที่ไม่รู้ที่มาที่ไปจะลดลง การใช้งบประมาณจะตรงตามความต้องการของระดับปฏิบัติการที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ไม่มีเรื่องงบเกินความจำเป็น ไม่มีประเด็นเรื่องการสร้างหนี้ให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งการพยายามใช้งบประมาณที่ใช้ไม่หมดก่อนสิ้นปีงบประมาณเพื่อที่จะได้ไม่ต้องส่งคืน หรือที่เรียกว่า “งบล้างท่อ” ก็จะไม่เกิดขึ้น ผลดีก็จะเกิดกับประเทศไทยเพราะเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
(หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่อนุกรรมาธิการวิสามัญสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่อย่างใด)