สร้างชาติด้วยอบายมุข หรือสำนึก ‘ผิดชอบชั่วดี’?
บ้านเมืองทุกวันนี้มีปัญหาหนักหน่วงหลายด้านอยู่แล้ว เรื่องอบายมุขใหม่ล่าสุด ว่าด้วยการเสนอตั้ง “บ่อนเสรี”
หรือ “กาสิโน” จึงเป็นประเด็นที่ชวนสงสัยว่ามี “วาระซ่อนเร้น” อะไร
เป็นการดึงความสนใจจากเรื่องร้อน ๆ การเมืองอื่น หรือเป็นการผลักดันของกลุ่มทุนที่กำลังจะให้ “อำนาจพิเศษในภาวะพิเศษ” ผลักดันให้เกิดในสิ่งที่สังคมไทยต่อต้านมาตลอด หรือเป็นเรื่องของความผิดเพี้ยนว่าด้วยการตีความคำว่า “ปฏิรูป”?
แต่จะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม, หากเป้าหมายของกลุ่มผู้นำเสนอต้องการจะ “ช่วยชาติ” จริง ๆ ก็ควรจะต้องมองในสิ่งที่สร้างสรรค์, ระดมสรรพกำลังจากคนทั้งประเทศ, และมีความยั่งยืนต่อการฟื้นฟูประเทศอย่างแท้จริง มิใช่เรื่องที่พอเอ่ยปากออกมาก็จะกลายเป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้ง และแตกแยกในสังคมอีกเรื่องหนึ่งทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองทุกวันนี้ก็มีหัวข้อที่สร้างความร้าวฉานเกินพอแล้ว
สังเกตไหมว่าอะไรที่เกี่ยวกับมาตราฐานสากล อะไรที่เกี่ยวกับการสร้างความถูกต้องชอบธรรม และอะไรที่เป็นเรื่องสร้างชาติสร้างบ้านเมือง ไทยเรามักจะได้คะแนนต่ำในระดับสากล
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานการบินขององค์กรการบินพลเรือนหรือ ICAO
ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการศึกษา
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค้ามนุษย์หรือมาตรฐานการประมงที่กลายเป็นเรื่องร้อน ๆ ที่มากับรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Person หรือTIP) ประจำปีที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯกำลังจะออกมาก่อนสิ้นเดือนนี้
หรือมาตรฐานของสหภาพยุโรปว่าด้วยการประมงผิดกฎหมายที่เรียกว่า IUU (Illegal, unreported and unregulated fishing) ที่ไทยเราโดนเตือนมาแล้วและกำลังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายด้านของไทย
หรือมาตราฐานการปราบคอร์รัปชันที่ยังต่ำต้อยด้อยหน้ากว่าหลาย ๆ ประเทศ
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องเร่งสร้างความรู้ความสามารถ และกลไกเพื่อยกระดับให้ทัดเทียมประเทศอื่น เพื่อให้เรามีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลจริง ๆ
แต่เราไม่เห็นคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมออกมาเสนอทางออกหรือแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการสร้างแรงผลักดันเพื่อ “ช่วยชาติ” อย่างแท้จริง
ตรงกันข้ามหากเป็นเรื่องของการหาประโยชน์ของคนบางกลุ่ม หรือเป็น “ธุรกิจสีเทา” และการสร้างความได้เปรียบของกลุ่มการเมือง, ธุรกิจและนักฉวยโอกาสที่คอยเจาะหาช่องว่างในกฎหมาย ก็ดูเหมือนจะได้รับการผลักดันอย่างเร่งร้อนและคึกคักเสมอ
โดยเฉพาะหากเป็นธุรกิจที่หากินกับอบายมุขและสิ่งผิดกฎหมาย ที่สุ่มเสี่ยงกับมาตรฐานศีลธรรมและธรรมาภิบาลของสังคม หรือกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ หรือสะท้อนถึงความล่มสลายของวัฒนธรรมอันดี เราจะเห็นความกระตือรือร้นของคนบางกลุ่มบางเหล่า เพื่อให้ได้สิทธิในการแสวงหาประโยชน์ทั้งที่เปิดเผยและปิดบังซ่อนเร้นอยู่ข้างหลัง
กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอบายมุขทั้งหลายในประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพนัน, เหล้า, บุหรี่, และธุรกิจที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ล้วนแล้วแต่มีช่องว่างให้คนทำผิดกฎหมายได้ โดยหลีกเลี่ยงการลงโทษหรือลงโทษแต่เพียงสถานเบา ทำให้สิ่งชั่วร้ายของสังคมยังดำรงอยู่อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย
แต่เราไม่เห็นความกระตือรือร้นในลักษณะเดียวกันจากกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้ต่อการสร้างสรรค์ประเทศ เช่นการร่วมมือปราบการโกงกิน, การปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ, การส่งเสริมการอ่านการค้นคว้าวิจัย, การสร้างวินัยในหมู่คนไทยให้รู้จัก “ความพอดี” และการต่อต้านนักการเมืองฉ้อฉลอย่างเป็นกิจลักษณะ
สังคมมักง่าย, มักมาก, และมุ่งแสวงหาประโยชน์ไม่อาจจะสร้างความยั่งยืนได้
การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงหมายถึงการสร้าง “ค่านิยม” ที่ยึดถือความดี, ความยุติธรรม, ความถูกต้อง มิใช่ความฟุ้งเฟ้อ, ความหมกมุ่นกับอบายมุข และการแสวงหาประโยชน์อย่างไร้ความสำนึก ต่อศีลธรรมและความ “ผิดชอบชั่วดี” ของคนรุ่นนี้ต่อคนรุ่นต่อไป