‘พลังงานไฟฟ้าจากขยะ’ อีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนของไทย

‘พลังงานไฟฟ้าจากขยะ’ อีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนของไทย

การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงาน เป็นแนวทางหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศ

ที่มุ่งสู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กว่าร้อยละ 75 ของความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์มาจากการนำเข้า ภาครัฐจึงมีแนวทางลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนรูปแบบอื่น ซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียนด้วยกลไกการสร้างแรงจูงใจหลากหลายมาตรการ ได้แก่

มาตรการสนับสนุนด้านการเงินทั้งการกู้แบบให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การร่วมทุน มาตรการรับซื้อส่วนเพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงระบบสายส่งและการประชาสัมพันธ์การใช้พลังงานทดแทน และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนอย่างทั่วถึง

มาตรการต่างๆ ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความสนใจในการลงทุน ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น การใช้พลังงานทดแทนของไทยจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 11.9 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมดของประเทศ (ข้อมูลเบื้องต้น “สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน” website จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2558)

ขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ในปัจจุบันมีปริมาณขยะจากชุมชนและอุตสาหกรรมจำนวนมากในแต่ละพื้นที่ ปี2557 มีปริมาณขยะ 26 ล้านตัน เป็นขยะชุมชนร้อยละ 86 และขยะอุตสาหกรรมร้อยละ 14 ของปริมาณขยะทั้งหมด (กรมควบคุมมลพิษ 2557) ปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ (ผลิตไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และปุ๋ย) คิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณขยะทั้งหมด ปริมาณขยะที่ตกค้างคิดเป็นร้อยละ 2ของปริมาณขยะทั้งหมด และปริมาณขยะที่เก็บขนไปกำจัดในสถานที่กำจัดร้อยละ 75 ของปริมาณขยะทั้งหมด

ซึ่งปริมาณขยะกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ที่กองทิ้งไว้ตามบ่อขยะหรือลักลอบทิ้งตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและเชื้อโรค และบางครั้งมีมลพิษทางอากาศ จากการลุกไหม้กองขยะ และการกำจัดขยะด้วยกระบวนการเผาไหม้แบบธรรมดา ที่มีควันลอยสู่บรรยากาศ ทั้งนี้ ขยะเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือนำไปใช้เป็นพลังงานได้ อันนำไปสู่การแก้ไขขยะล้นเมือง และยังลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายภายในปี 2564ต้องผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะได้เท่ากับ 400 เมกะวัตต์ต่อปี และมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะจำนวน 53 แห่ง ซึ่งในปี 2557 มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะเพียง 65.72 เมกะวัตต์ ที่มีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะประมาณ 12 แห่ง โดยภาครัฐมีแนวทางการส่งเสริมพลังงานขยะ ตามนโยบายการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (waste to energy) และการกำหนดการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ

โดยการจัดการขยะตกค้างสะสม และการสร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสม ในบ่อฝังกลบขยะในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน และเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กับชุมชน รวมถึงการส่งเสริมการคัดแยกขยะ และการวางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะด้วยการให้ความรู้ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะที่กำหนดไว้ 5.60 บาทต่อหน่วย

จากมาตรการส่งเสริมต่างๆ ทำให้ภาคเอกชนมีความสนใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีการลดความชื้นในขยะที่มีความชื้นสูงและให้ความร้อนน้อย และเทคโนโลยีการแปลงขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย[1]เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดี (Refuse Derived Fuel: RDF) ในการนำไปผลิตไฟฟ้า

แม้ว่าภาครัฐมีการส่งเสริมการนำขยะมาเป็นพลังงาน แต่การดำเนินการที่ผ่านมายังห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยในปี 2557 มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะเพียง 65.72 เมกะวัตต์ และยังมีอุปสรรคหลายประการ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ และการจัดขยะเพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับกฎระเบียบที่กำหนดว่า ขยะเป็นทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การนำมาใช้ประโยชน์ต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมทุน ที่มีต้นทุนการดำเนินการเพิ่มขึ้น โครงการขยะขนาดใหญ่ที่ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ (ท้องถิ่น) กับเอกชนต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ใช้เวลานานและมีกฎระเบียบหลายอย่าง ที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินการของผู้ประกอบการ ปัญหาการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับปริมาณขยะ ความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินการ ชุมชนสิ่งแวดล้อม ความเหมาะสมของเทคโนโลยี ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในปี 2556 มีการปรับปรุงกฎระเบียบ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการจัดการทำให้การดำเนินการมีความคล่องตัวมากขึ้น เปิดโอกาสให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพดำเนินการพัฒนาพลังงานขยะเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หากสามารถดำเนินการได้จะทำให้เกิดประโยชน์รวมทั้งการลดปัญหามลพิษจากกองขยะชุมชนและการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตเป็นไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ

แนวทางการจัดการขยะและการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ต้องสร้างรูปแบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ ปลูกจิตสํานึก สร้างความตระหนักให้ประชาชนในระดับครัวเรือน และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดต้นทุนในการคัดแยกขยะ เตรียมการก่อนนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและความร้อน การจัดการขยะแบบศูนย์รวมในการร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปขยะที่เหมาะสม และสอดคล้องกับปริมาณขยะ รวมถึงการวางระเบียบการบริหารจัดการขยะ เช่น การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ให้มีการคัดแยกขยะมูลฝอย และการส่งเสริมการนำขยะที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ โดยการจัดการขยะชุมชนในระดับพื้นที่ที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ปริมาณและคุณภาพของขยะ และการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

[1] ขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย ครอบคลุมถึงขยะอินทรีย์ที่ผ่านเทคโนโลยีลดความชื้น กระดาษ พลาสติก ไม้ ผ้า พรม ยาง ซึ่งไม่รวมขยะที่ไม่สามารถเผาไหม้ได้ ขยะอันตราย และขยะรีไซเคิล เช่น โลหะ แก้ว เหล็ก อะลูมิเนียม กรวด และหิน

-------------

ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ

นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย