บทบาทของไทยกับการพัฒนาโครงการ ‘ทวาย’ ในอนาคต
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญเกี่ยวกับ “โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย”
ในประเทศพม่า โดยที่ประชุมระดับสูงระหว่างไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง(JHC) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเนปิดอว์ ซึ่งมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายอู ญาณ ทุน รองประธานาธิบดีของพม่า เป็นประธานร่วมได้เห็นชอบสาระสำคัญ ของร่างสัญญาสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระยะแรกบนพื้นที่27 ตารางกิโลเมตร โดยมีบริษัทเอกชนไทยเป็นผู้ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว
การลงนามในสัญญาสัมปทานระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลพม่า และบริษัทเอกชนร่วมทุนของไทย ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลพม่า ในการเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ หลังจากนี้จะมีการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรมบนพื้นที่กว่า1.6 หมื่นไร่ ในวงเงินไม่ต่ำกว่า1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในระยะเวลา 8 ปี โดยโครงการสำคัญได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม อ่างเก็บน้ำ ระบบโทรคมนาคมภาคพื้นดิน พื้นที่อยู่อาศัย ท่าเรือขนาดเล็ก และคลังเก็บก๊าซแอลเอ็นจีแบบลอยน้ำ (LNG Floating Terminal)
โครงการฯทวายถือได้ว่าเป็นมหากาพย์เรื่องหนึ่ง ของการพัฒนาอุตสาหกรรมโครงการขนาดใหญ่ กว่าโครงการฯ จะเดินหน้ามาถึงจุดนี้รัฐบาลไทยเองก็ออกแรงไปไม่น้อย นอกจากจะผลักดันให้โครงการยกระดับเป็นโครงการระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)ไทยยังใช้ความพยายามในการชักชวนประเทศต่างๆโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นในรัฐบาลนี้ยังให้เงินเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (พิเศษ) วงเงิน 4.5 พันล้านบาทให้กับรัฐบาลพม่าในการสร้างถนน2 ช่องทางจราจรระยะทาง 130 กิโลเมตรเชื่อมต่อจากชายแดนไทยบริเวณด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรีกับโครงการฯทวาย ซึ่งเงินกู้จำนวนนี้รัฐบาลพม่านำมาปล่อยกู้ให้ต่อให้กับบริษัทเอกชนของไทยที่ได้รับสัมปทานในการสร้างถนนเส้นดังกล่าว ทั้งนี้หากรวมโครงการมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพ – บางใหญ่ –กาญจนบุรี วงเงินก่อสร้าง 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างเส้นทางสำคัญในการเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันออกหรือEastern seaboard ของไทยในอนาคตไทยก็ใช้เงินไปกว่า 6 หมื่นล้านบาทเพื่อสานฝันโครงการฯทวายให้เป็นจริง
ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาระยะที่ 2 หรือ Full Phase ทวายจะเป็นฐานผลิตใหญ่ของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ปิโตรเคมีขั้นสูง จะมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าอีกหลายโรง รวมถึงโครงการแลนด์บริจ ซึ่งแง่หนึ่งจะทดแทนข้อจำกัดในไทยที่การขยายอุตสาหกรรมต่างๆถูกต่อต้าน
ที่ผ่านมาไทยได้แสดงการสนับสนุนโครงการนี้โดยชี้ให้เห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก แต่บทบาทดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะให้รัฐบาลและประชาชนพม่าเห็นถึงความจริงใจของไทยที่อยากเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่าในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรองประธานาธิบดีพม่าเองก็บอกว่าอยากเห็นโครงการนี้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่พื้นที่ภูมิภาคที่มุ่งเน้นการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน
สิ่งที่ไทยควรกำหนดบทบาทในการพัฒนาทวายระยะต่อไป คือการประกาศสนับสนุน ให้โครงการฯทวายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ที่พัฒนาไปควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยเรายินดีจะนำบทเรียนการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในอดีต ไปช่วยวางแผนให้การเติบโต ในของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในพม่าเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน