คิดหน่อยสิครับ
ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน เขียนไว้ว่า นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งให้รัฐมนตรี
กระทรวงศึกษาธิการ (จับตา) ไปทบทวนการเรียนการสอน เพราะ “อาจารย์หรือครูบางคนสอนให้คนขัดแย้งสังคมก็เป็นไปไม่ได้ ต้องสอนให้เคารพกฎหมาย เคารพกติกา ในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม ชอบธรรม ไม่ใช่ฝืนไปทุกเรื่อง สอนให้มีความคิดอิสระได้ แต่ความคิดที่ดีงามก็ต้องเห็นด้วย” และปิดท้ายข่าวด้วยคำพูดที่ว่า “ไม่ทราบว่าคิดด้วยอะไร” (มติชน 28 ตุลาคม 2558)
ผมไม่อยากจะถามกลับหรอกนะครับว่า ท่านนายกฯคิดด้วยอะไร ถึงได้ตั้งข้อสงสัยและสั่งการแบบนี้ เพราะเหมือนกับว่าผมสวน “ผู้ใหญ่” ซึ่งดูจะรุนแรงเกินไป ประกอบกับว่าก็ไม่ค่อยแน่ใจคำพูด/กิริยาของท่าน ที่ถูกตัดออกนอกบริบทจะสื่อตรงกับที่ท่านต้องการหรือไม่ เช่น ท่านอาจจะพูดเชิงตลก ซึ่งจะตลกได้ก็ต้องดูท่าทางประกอบด้วย หากตัดเอาเฉพาะคำพูดมาก็จะไม่ตลก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ต้องถามเพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ท่านก็คงจะใช้คำพูดอย่างนี้ต่อไปได้อีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลยสักคน รวมทั้งตัวนายกฯเองด้วย
ผมไม่สามารถอธิบายหรือตอบข้อสงสัยของท่านนายกฯ แทนอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหมด หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่ท่านกำลังกล่าวถึงได้ และผมก็ไม่ได้ร้อนตัวว่า ท่านนายกฯกำลังหมายถึงผม เพราะผมตัวเล็กเกินกว่าที่ท่านหรือชนชั้นนำทหารจะสนใจ การอธิบายที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นส่วนของผมคนเดียวที่ต้องการอธิบายให้สังคมเข้าใจ ส่วนท่านนายกฯจะอ่านหรือมีคนไปสรุปให้ฟังหรือไม่ เป็นเรื่องของท่าน
การสอนให้นักศึกษา “คิด” หมายความว่าอย่างไร
กระบวนการคิดจะต้องเริ่มต้นจากคำถาม หรือข้อสงสัยในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หากไม่มีคำถามหรือข้อสงสัย เราจะไม่เกิดการคิดแต่จะเกิดการ “ดึง” เอาผลสรุปจากการคิดของคนอื่น/ของสังคม มาใส่ในหัวของเรา ตัวอย่างเช่น หากเราเห็น “เด็กแว้น” หากเราไม่มีคำถามว่าพวกเขาคือใครแน่ๆ คำตอบที่ผุดในสมองเราทันทีก็คือ กรอบคิดที่สร้างและฝังไว้ในความรู้สึกเราแล้วว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอน (พ่อแม่ไม่มีเวลา) รับวัฒนธรรมตะวันตก คบเพื่อนเลว เอาอย่างกัน เป็นต้น
การตั้งข้อสงสัยจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อเราเริ่มมองหรือพิจารณา “ข้อมูลปลีกๆ” ชุดหนึ่งด้วยสายตาใหม่ ไม่ใช่ด้วยกรอบการคิดแบบเดิม การตั้งข้อสงสัยกับ “ข้อมูลปลีกๆ” นี้ จะนำให้เราเริ่มมองหาความหมายใหม่ ที่เชื่อมโยงเขาไปกับข้อมูลปลีกๆ ชุดอื่นๆ ตัวอย่าง นิวตันนอนใต้ต้นแอปเปิล แล้วลูกแอปเปิลตกใส่หัว นอกจากจะเจ็บหัวแล้ว นิวตันเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมลูกแอปเปิลถึงตกใส่หัวได้ หากเป็นก่อนนิวตันก็คงลงความเห็นไปว่า เพราะพระเจ้ากำหนดไว้แล้ว แต่เมื่อสงสัยแล้วตั้งคำถามใหม่ การแสวงหาคำตอบจึงเป็นกระบวนการของการ “คิด” และนำไปสู่การสร้างทฤษฏีแรงโน้มถ่วงได้
การคิดของนักวิชาการโดยเฉพาะทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ก็มักจะมีภาพนามธรรมรวบยอดของ “สิ่งที่ควรจะเป็น” อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่ดี/สังคมที่ดี/รสนิยมที่ดี จากนั้นจึงมอง/อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นหรือไม่เป็นตามภาพนามธรรมรวบยอดนั้นๆ หากไม่เป็นก็ต้องหาทางอธิบายต่อไปว่า ไม่เป็นเพราะเงื่อนไขอะไร ความเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆ จึงจะชัดเจนมากขึ้น
การ “คิด” ของท่านนายกฯ ในการตัดสินใจทำรัฐประหารคราวที่แล้วก็เช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าท่านและบรรดานายทหาร ที่ร่วมหัวจมท้ายกับท่านผ่านกระบวนการ “คิด” เชื่อมโยงโน่น นี่ นั่น มากมายหลายมิติ และในกลุ่มของท่านเองก็คงมีข้อโต้แย้งอันเกิดจากการประเมินสถานการณ์ หรือภาพที่ควรจะเป็นแตกต่างกัน และก็ต้องสรุปให้ได้ว่าจะทำรัฐประหารหรือไม่ทำ หากทำแล้วจะใช้อะไรสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำ “ฉีก” กฎหมายสูงสุดนี้ (แรงกว่าไม่ทำตามกฎหมายอย่างที่ท่านอยากให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเน้นห้ามนะครับ)
ในแต่ละรายวิชาและสาขาวิชา ก็ย่อมมีฐานในการคิดที่แตกต่างออกไป กระบวนการสอนที่ดีทั้งหมดก็คือ การต้องแสวงหาทาง/แนวทางที่จะทำให้นักศึกษามีความสามารถ “มอง” ข้อมูลปลีกๆ หรือมองปรากฏการณ์หนึ่งๆ ด้วยสายตาใหม่ เพื่อที่จะนำไปสู่การทำให้นักศึกษา “คิด“ หรือเริ่มที่จะ “คิด” การครูบาอาจารย์ไม่สามารถทำให้เกิดกระบวนการเช่นนี้ หรือการสอนที่ไม่เน้นตรงจุดนี้ ก็หมายความได้เลยว่าการสอนนั้นไม่ใช่การสอนที่ทำให้นักศึกษา “คิดเป็น”
ท่านนายกฯคงจะรู้ความหมายที่แตกต่างกันระหว่าง Schooling กับ Learning นะครับ สิ่งที่ท่านนายกฯกำชับให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทำ น่าจะเป็นการผลักให้มหาวิทยาลัยมุ่งสู่การสอนหนังสือแบบ Schooling ซึ่งยิ่งจะซ้ำเติมปัญหาประเทศไทยมากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้นักศึกษา “คิด” ไม่เป็นมากขึ้นไปอีก ลองคิดต่อไปซิครับว่า ในฐานะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลอนาคตของประเทศไทย (ที่ท่านมักจะกล่าวอ่างถึงตัวเอง) ท่านจะแก้ปัญหาระบบการศึกษาของสังคมไทยที่ (เกือบทั้งหมดเป็นกระบวนการสร้าง Schooling และ) ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงด้วยวิธีการอะไร สิ่งที่ท่านพูดให้ดูแลอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เหมือนกับว่ากำลังอยากจะทำให้ Schooling เข้มแข็งมากขึ้นอย่างนั้นหรือ
คิดสิครับ
ผมคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ท่านนายกฯ พาดพิงถึงกำลังทำสิ่งนี้แหละครับ ทุกคนที่เน้นกระบวนการการเรียนที่ผมรู้จักนั้น ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่อยากจะทำลายสังคมหรอกครับ เพราะความรักชาติรักสังคมไทย จึงเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาทำในสิ่งที่ท่านนายกฯไม่ชอบนี่แหละครับ และต้องตระหนักด้วยนะครับว่า กระบวนการนี้แหละที่จะทำให้สังคมไทยเข้มแข็งมากกว่าเดิม
คิดหน่อยสิครับ