ผู้หญิงไทยในบริบทใหม่ (New Normal)
ในช่วงปีนี้ เรื่องของเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) เป็นที่พูดถึงกันมากในสังคม
นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวโดยสรุปคือ การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศหลายเรื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเดิม และความไม่เหมือนเดิมนี้จะมีแนวโน้มต่อเนื่อง จนเราต้องยอมรับว่ามัน คือความปกติ ‘ใหม่’ ที่เกิดขึ้น โดยท่านอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สรุปเรื่อง New Normal ของเศรษฐกิจไทยว่า เป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่โตช้าลง การค้าต่างประเทศที่ชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง ระบบการเงินโลกที่มีความเชื่อมโยงมากขึ้น และสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมานอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจแล้วอาจยังมีเรื่องอื่นๆ อีก ที่เปลี่ยนแปลงไป จนน่าจะยอมรับได้ว่าเป็นเรื่องความปกติ ‘ใหม่’ เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ คุณลักษณะของผู้หญิงไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้หญิงไทยภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) เป็นอย่างไร จะขอสรุปให้ดังนี้
1) ผู้หญิงไทยมีการศึกษามากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อัตราการอ่านออกเขียนได้ (Literacy Rate) ของผู้หญิงที่เคยต่ำว่าผู้ชาย ได้เพิ่มขึ้นจนเท่ากัน (96.4%) ในปี 2010 (http://data.worldbank.org/country/thailand)นอกจากนี้ อัตราการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาของผู้หญิง (% Tertiary Enrollment) ยังสูงกว่าผู้ชายอีกด้วย(Ibid-ข้อมูล % Tertiary Enrollment ของปี2000-2013) การที่ผู้หญิงมีการศึกษามากขึ้น ทำให้ผู้หญิงสามารถสร้างรายได้ และเลี้ยงดูตัวเองได้ ความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องแต่งงาน เพื่อให้มีความอยู่รอดทางเศรษฐกิจมีน้อยลง
2) ผู้หญิงไทยแต่งงานช้าลงและครองตัวเป็นโสดมากขึ้น
ในอดีตที่ผ่านมา เรามักมีค่านิยมที่ว่า ผู้หญิงควรทำหน้าที่ในครัวเรือน ส่วนผู้ชายทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Gary Becker ยังเคยเขียนทฤษฎีการแต่งงาน (Theory of Marriage) ว่า ผู้ชายกับผู้หญิงที่แต่งงานกันควรแบ่งงานกันทำในครอบครัว โดยให้ผู้หญิง specialize ในงานด้านครัวเรือน และให้ผู้ชาย specialize ในงานนอกบ้านที่ได้รายได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ครอบครัวได้ประโยชน์มากที่สุด อย่างไรก็ดี ค่านิยมนี้ กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันผู้หญิงไทยเริ่มแต่งงานช้าลงหรือไม่แต่งเลย โดยในปี 1970 อัตราส่วนของผู้หญิงอายุ 40-44 ที่เป็นโสดมีเพียง 3.9% แต่ในปี 2010 อัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10.6% (สำมะโนประชากรและเคหะ,สำนักสถิติแห่งชาติ)(จริงๆ Trend การแต่งงานช้าหรือการไม่แต่งงานของผู้หญิง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเมืองไทย แต่เป็นTrend ที่เกิดขึ้นทั้งใน East Asia และ Southeast Asia)
3) ผู้หญิงไทยมีลูกน้อยลง
ปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) ของผู้หญิงไทยลดลงมาก จากที่เคยสูงถึง 6.1 ในปี 1960 (หมายถึงโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิง 1 คนจะมีลูกได้ 6.1 คน) ลดลงมาเป็น 1.4 ในปี 2013 (World Development Indicators 2015, World Bank (http://data.worldbank.org/country/thailand)การที่ผู้หญิงมีลูกน้อยลงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงการที่ประเทศจะมีประชากรที่ลดลงในอนาคตอีกด้วย
คำถามที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเรารู้แล้วว่า New Normal ของผู้หญิงไทยเป็นแบบนี้ เราจะเอาประโยชน์ จากความรู้นี้มาทำอะไรได้บ้าง ถ้ามองในด้านทางธุรกิจ ก็คงจะมองได้ว่าผู้หญิงไทยแบบใหม่นี้จะต้องการสินค้าและบริการประเภทไหนบ้างถ้ามองในด้านนโยบายคงจะมองได้ว่าทำอย่างไร จะชักชวนให้ผู้หญิงไทยแบบใหม่นี้จะมีส่วนมาช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงวัยและแรงงานขาดแคลนนี้ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชวนนำไปถกไปคิดต่อไป
เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้หญิงไทยก็เปลี่ยนไปด้วย หากเราสามารถปรับตัวและทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้อย่างว่องไว ก็จะทำให้เราสามารถได้โอกาส อีกทั้งสามารถลดทอนหรือแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
-------------------
ดร.วรประภา นาควัชระ