ถอดรหัสผู้ว่าแบงก์ชาติจีน
ไม่บ่อยครั้งนักที่บุคคลระดับแถวหน้าของทางการจีน จะออกโรงวิพากษ์เศรษฐกิจและการเงินจีนด้วยตนเอง
ทว่า สัปดาห์ที่แล้ว นายโจว เซี่ยว ฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อดังของจีน ให้ความเห็นว่าด้วยสถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจและการเงินของจีน
ประเด็นที่นายโจวให้ความเห็นอย่างน่าสนใจ มีดังนี้
หนึ่ง สำหรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนของจีนนั้น นายโจวพูดชัดๆ ว่าเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทว่าอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังสามารถที่จะยืดหยุ่นได้ สิ่งที่ถือว่าเป็นทีเด็ดของระบบอัตราแลกเปลี่ยนจีน คือตั้งใจที่จะให้บรรดาเฮดจ์ฟันด์และนักเก็งกำไรมึนด้วยการไม่บอกกรอบของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่จะสามารถขึ้นลงได้ในระยะสั้น เพื่อที่จะไม่ถูกโจมตีค่าเงินหยวนได้ง่าย รวมถึงจะปรับเปลี่ยนค่ากลางของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นครั้งคราว หากสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
จุดนี้ ผมคิดว่านายโจวมาถูกทางที่มีการผสมผสานแนวคิดตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันแบบ ‘ลับ ลวง พลาง’ ผสมกับกลยุทธ์แนวสามก๊ก ต้องบอกว่าไม่ว่าจะเป็นไคล์ บราส หรือจอร์จ โซรอสคงจะกินธนาคารกลางจีนยากสักหน่อย โดยเฉพาะในปีนี้
สอง นายโจวกล่าวว่าระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนใหม่เงินหยวนของจีน จะใช้ตะกร้าเงินที่มิใช่ดอลลาร์เป็นสกุลหลักในการกำหนดค่าเงินหยวน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดสงครามการเงิน หรือ currency war เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ประเด็นนี้ ผมยังไม่ค่อยคล้อยตามนายโจวสักเท่าไร เนื่องจากช่วงที่เกิดวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยนเล็กๆ ทั้ง 2 ครั้งในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา บรรดาบุคลากรในหน่วย National Team ที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือผู้รับผิดชอบหลักในการปกป้องค่าเงินหยวนมิใช่ธนาคารกลางจีนแต่อย่างใด
สาม ผู้ว่าแบงก์ชาติจีนยังให้ความเห็นว่าระดับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนในตอนนี้ ถือว่าใกล้อยู่ ณ ‘จุดดุลยภาพ’ เนื่องจากเขามองว่าทั้งการเติบโตเศรษฐกิจของจีนที่ยังเติบโตได้ดีพอสมควร และการเกินดุลของบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีอยู่ในปริมาณสูง หากมองไปยาวๆ นายโจวยังมองว่าการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงที่เข้ามาจากต่างประเทศ จะหักลบกลบกับกระแสเงินการลงทุนของรัฐบาลจีนสำหรับโครงการใหญ่ๆ ในต่างประเทศ
สำหรับกระแสเงินทุนที่ไหลออกจากจีนตั้งแต่เมื่อช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงไปกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์นั้น นายโจวมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการจ่ายหนี้ต่างประเทศและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เขาย้ำว่าเป็น “capital outflows” ไม่ใช่ “capital flight” อย่างที่ทึกทักกัน
ตรงนี้ ผมคิดว่าภายในปีนี้ ก็จะสามารถพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าวของผู้ว่าแบงก์ชาติจีนว่าจะเป็นจริงแค่ไหน?
สี่ ระหว่าง “การเปิดเสรีทางการเงิน” กับ “ความวุ่นวายจากการเก็งกำไรของบรรดาเฮดจ์ฟันด์” นายโจวกล่าวว่าทางการจีนสามารถรอให้บรรดานักเก็งกำไรอ่อนแรงลงก่อน ก่อนที่จะเปิดเสรีทางการเงิน ทั้งนี้ เขาย้ำว่า รัฐบาลจีนไม่จำเป็นต้องมี Capital Control เพราะประชาชนชาวจีนก็มีกำลังซื้อและลงทุนในตลาดต่างประเทศสูง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการไม่มีเสถียรภาพของการไถ่ถอนคืนของกระแสเงินทุนต่างประเทศ
ห้า นายโจวย้ำหลายครั้งว่า อย่าได้เชื่อข่าวลือจากนักลงทุนชาวตะวันตกที่ปล่อยข่าว อาทิเรื่องการล้มของแบงก์จีน หรือการควบคุมกระแสเงินเข้า-ออกระหว่างประเทศ เพราะเป็นแค่“แทคติก”ที่ใช้ในการหากำไรของตนเองเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามที่ผู้ว่าการธนาคารชาติจีนยังมิได้ตอบ ดังนี้
หนึ่ง การลดลงของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับอัตราเงินเฟ้อในเซกเตอร์การผลิตและอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง จนใกล้จะกลายเป็นเงินฝืดไปแล้ว จนนักวิเคราะห์หลายสำนักมีความเห็นว่าน่าจะกำลังพัฒนาไปสู่ปัญหาเรื้อรังเหมือนกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วง 3 ทศวรรษก่อนหน้า เนื่องจากข้อจำกัดของอัตราดอกเบี้ยของจีนในการแก้ปัญหาเงินฝืด คล้ายกับของญี่ปุ่นในช่วงนั้น
ที่สำคัญ ดูเหมือนจีนกับญี่ปุ่นยังมีสิ่งที่คล้ายกันมากคือ คีย์แมนทีมเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ไม่มีสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า ‘charisma’หรือจุดขายของบุคลิกของผู้นำ เพื่อที่จะเป็นบุคคลที่คอยให้สัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินและการคลังต่อสาธารณชน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อเสียเปรียบชาติตะวันตกในยุคที่ข้อมูลข่าวสารวิ่งเร็วราวกับแสง สำหรับการแก้เกมทางเศรษฐกิจในอนาคต
สอง ไม่มีความชัดเจนว่าใครกันแน่คือผู้ชี้เป็นชี้ตายในการตัดสินใจออกนโยบายการเงินและเศรษฐกิจในช่วงเกิดวิกฤติ ซึ่งสำหรับประเทศจีน แต่ไหนแต่ไรไม่มีการบอกกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งตรงนี้จีนมองว่าเป็นข้อดี แต่ตำราทางเศรษฐกิจและการบริหารของชาติตะวันตกบอกว่าเป็นข้อเสีย
ผมชอบให้ทางการจีนออกมาสัมภาษณ์บ่อยๆ ในอนาคต เพราะจะทำให้ไม่เกิดความสับสนในทิศทางของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงิน ที่เกิดขึ้นหนักมากเมื่อปีที่แล้วครับ