COP29: ภารกิจมุ่งเป้าระดมทุนรับมือโลกเดือด
การประชุมสุดยอด COP29 เราจะได้เห็นการสร้างความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากยังคงมีช่องว่างด้านเงินทุนรวมถึงความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
สวัสดีครับ
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 หรือ COP29 ได้กลับมาจัดอีกครั้งระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน การประชุมนี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประชาคมโลกร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) พร้อมประเมินความก้าวหน้าและหาแนวทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) เพื่อเพิ่มเงินช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
ในห้วงเวลาที่ COP29 กำลังดำเนินอยู่นี้ ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เห็นข่าวคราวน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่แคว้นบาเลนเซีย ของสเปน โดยในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ฝนที่ตกกระหน่ำลงมามีปริมาณมากกว่าสถิติฝนทั้งปีรวมกัน นอกจากนี้ เดอะเกรทแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีชีวิตใหญ่ที่สุดในโลกที่มีความยาวกว่า 2,400 กม. ของออสเตรเลีย กำลังตกอยู่ในอันตรายจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) โดยมีสาเหตุมาจากน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งสูงสุดในรอบ 400 ปี ขณะที่ประเทศไทยของเรายังคงเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบกับทั้งระบบนิเวศและระบบเศรษฐกิจของเราอย่างประเมินค่ามิได้
ภัยพิบัติเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของวิกฤติที่ใกล้ตัวและได้เกิดขึ้นจริงที่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกฝ่ายต่างคาดว่าในการประชุมสุดยอด COP29 เราจะได้เห็นการสร้างความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากยังคงมีช่องว่างด้านเงินทุนรวมถึงความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
COP29 ครั้งนี้ ได้รับการขนานนามว่าเป็น COP ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance COP) ด้วยเหตุว่ามีภารกิจหลักคือ ทำอย่างไรจะสามารถระดมทุนได้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนประเทศที่มีรายได้น้อยในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการรับมือกับผลกระทบที่กำลังจะมาถึง โดยมีรายงานที่อ้างอิงข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่าประเทศที่กำลังพัฒนา (ไม่รวมจีน) ต้องการเงินลงทุนมหาศาลกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อหยุดยั้งภาวะโลกเดือดภายในปี 2030 ก่อนหน้านี้เคยมีความตกลงในการก่อตั้งกองทุนเพื่อชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Fund) ที่ประเทศมหาอำนาจต้องใส่เงินลงไปเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตนได้สร้างขึ้น แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่าประเทศใดบ้างต้องเข้ามา “ร่วมรับผิดชอบ” ใส่เม็ดเงินลงไปในกองทุนที่ว่านี้
การประชุม COP29 ยังเป็นโอกาสของนานาประเทศในการปรับแผน "การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด" (Nationally Determined Contributions: NDCs) ซึ่ง NDC เรียกว่าเป็นคำมั่นสัญญาในระดับชาติในการดำเนินการตามแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะต้องมีการทบทวนและปรับปรุงแผนทุกๆ 5 ปี แผนนี้อาจครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานสะอาด ตลอดจนบทบาทของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจ สังคม และชุมชนที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อีกประเด็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง คือท่าทีของสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ที่คว้าชัยในการเลือกตั้งและกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สอง ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้งหนึ่ง โดยการ “ยุติ” บทบาทของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก อาจส่งสัญญาณว่าเงินสนับสนุนปริมาณมหาศาลที่สหรัฐฯ เคยให้สัญญาว่าจะช่วยประเทศเล็กๆ อาจมลายหายไปกับสายลมอย่างน้อย 4 ปี และทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่าในเมื่อประเทศมหาอำนาจกำลังจะเดินจากไป แล้วเหตุใดประเทศที่ยังอยู่ต้องใส่ทั้งเงิน ใส่ทั้งความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป นอกจากนี้ผู้นำประเทศสำคัญหลายแห่งก็ไม่ได้ไปร่วมงาน COP29 นี้ อาทิ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของประเทศจีน ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และ นเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดีย
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่ COP29 ภารกิจจัดสรรเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนยังจำเป็นต้องไปต่อ โดยงาน COP29 นี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้เป็นผู้แทนจากภาคการเงินไทยร่วมขึ้นเวทีตอกย้ำพันธกิจในการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มคนตัวเล็กอย่างผู้ประกอบการ SME ให้สามารถค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่นแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมยังเชื่อเหลือเกินว่าไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคขัดขวางอย่างไร เรายังต้องเดินหน้าเพื่ออนาคตของรุ่นต่อไป เมื่อไหร่ที่เราหยุดเดินก็เท่ากับเริ่มถอยหลังแล้ว และยังมีคนอีกมากมายในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลกที่คิดแบบเดียวกันนี้ครับ