“เรียวมะ ซามูไร” ผู้นำการเปลี่ยนแปลง
หนังสือแปลโดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น การต่อสู้ทางการเมืองของซามูไรและชนชั้นนำ
ญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดินิยมตะวันตกเมื่อราว 130 ปีที่แล้ว ที่พวกเขาใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ จากระบบสังคมแบบขุนศึกศักดินาที่ล้าหลัง ไปเป็นสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ไล่ทันยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้เป็นประเทศแรก
ซากาโมโต เรียวมะ (ค.ศ.1836-1867) เป็นซามูไรระดับล่าง ผู้มีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะปกป้องญี่ปุ่นไม่ให้เป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตก แบบที่จีนประสบมาแล้ว เขาเลือกทางเดินผลักดันการปฏิรูประบบการเมือง จากแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ระบบขุนศึกศักดินา (โชกุน) ในยุคนั้น ให้เป็นแบบร่วมกันปกครองโดยชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่มีแนวคิดปฏิรูปแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ น่าสนใจมากสำหรับคนไทยซึ่งมีประวัติศาสตร์ในยุคนี้ (สมัยรัชกาลที่ 5) บางส่วนคล้ายกับญี่ปุ่น แต่ตอนท้ายหลังญี่ปุ่นทิ้งเราไปไกล
แนวเรื่องใหญ่เริ่มจากปี 1850 ที่สหรัฐส่งเรือกลไฟลำใหญ่ติดอาวุธพร้อมเข้าไปเทียบท่าเรือในญี่ปุ่นเพื่อยื่นจดหมายประธานาธิบดีสหรัฐ เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับการทำสนธิสัญญาการค้าและสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลขุนศึกศักดินาโชกุนของญี่ปุ่นปิดประเทศ ไม่ติดต่อค้าขายเสรีกับตะวันตกมาราว 200 ปี (ยกเว้นการค้าในขอบเขตที่จำกัดกับจีนและดัชท์)
รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นมีอาวุธและเศรษฐกิจที่ล้าหลังกว่าตะวันตกมาก จำต้องยอมเปิดประเทศ เซ็นสัญญาทำนองเดียวกันกับอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ตามมา การกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากเจ้าที่ดินศักดินาผู้ปกครองแคว้นและซามูไรบางกลุ่ม พวกเขาเป็นวรรณะนักรบ มีฐานะสูงและมีโอกาสได้เรียนหนังสือมากกว่าประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นพวกที่เย่อหยิ่งถือเกียรติยศ ถือศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลและแคว้นของตน
ระบบโชกุนเกิดมาจากการที่เจ้าที่ดินตระกูลที่เข้มแข็งที่สุดปราบเจ้าที่ดินตระกูลอื่น ซึ่งก่อนหน้าต่างคนต่างเป็นอิสระ และรวบอำนาจได้ ตั้งตัวเป็นประมุขของประเทศ (โดยคงรักษาจักรพรรดิไว้เป็นประมุขทางประเพณี แต่ไม่มีอำนาจทางการเมือง) แต่เจ้าที่ดินแว่นแคว้นต่างๆ ต่างคนต่างยังคงมีอำนาจความมั่งคั่งของตนเองในระดับต่างๆ และแข่งขันกันและกัน การปกครองแบบขุนศึกศักดินาที่กดขี่ขูดรีดภาษีแคว้นต่างๆ และคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนา ช่าง และพ่อค้า รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจสังคมสร้างความขัดแย้ง ความไม่พอใจให้ประชาชนวรรณะต่างๆ อยู่แล้ว พอเกิดเรื่องที่โชกุนไปยอมเซ็นสัญญาเสียเปรียบต่างชาติ ก็เลยเกิดกระแสต่อต้านว่ารัฐบาลโชกุนอ่อนแอไม่เอาไหน ฝักใฝ่สมคบคิดหาประโยชน์กับต่างชาติ มีการตั้งสมาคมลับของซามูไรของพวกหัวรุนแรง ชาตินิยม และใช้วิธีการลอบสังหารข้าราชการชั้นสูงที่พวกเขาเห็นว่าเป็นพวกฝักใฝ่สมคบหาประโยชน์กับต่างชาติ
เรียวมะ ซึ่งเป็นซามูไรมีฝีมือในเรื่องดาบ ก็อยู่ในกลุ่มพวกหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งด้วย แต่เขาเริ่มคิดไกลว่าแค่การเปลี่ยนแปลงผู้นำหรือการนำในแคว้นของตนเองคงไม่เพียงพอ ควรจะเปลี่ยนทั้งระดับประเทศด้วย เขาจึงหนีออกมาจากแคว้นของตนเอง เป็นโรนินหรือซามูไรอิสระไร้สังกัด ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย, ผิดจารีตร้ายแรง เรียวมะไปดักพบเพื่อหวังจะสังหารข้าราชการผู้ใหญ่ของรัฐบาลโชกุนผู้หนึ่ง แต่เมื่อได้คุยกัน เขากลับพบว่าข้าราชการผู้นั้นเป็นนักปฏิรูปผู้มีความคิดที่กว้างไกล ว่าการจะขับไล่หรือต่อสู้มหาอำนาจตะวันตกได้ ต้องเรียนรู้จากพวกเขา ทั้งเรื่องการต่อเรือ เดินเรือ การค้าขาย และเรื่องอื่นๆ และญี่ปุ่นควรเปิดประเทศค้าขาย เพื่อจะได้สะสมทุนและความรู้พอที่จะทำญี่ปุ่นให้ทันสมัยและต่อสู้กับประเทศตะวันตกได้อย่างแท้จริง เรียวมะซึ่งเป็นคนฉลาดคิดในทางนี้อยู่แล้ว จึงได้เข้าร่วมกลุ่มนักปฏิรูปที่มองการณ์ไกล มากกว่าพวกหัวรุนแรงที่มองอะไร 2 ขั้วสุดโต่งแบบทื่อๆ
เรียวมะ ทั้งพยายามเรียนรู้, ทั้งเป็นนักเคลื่อนไหวจัดตั้งได้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนฝึกการเดินเรือ, การตั้งบริษัทเดินเรือ ขนส่งสินค้า และการชักจูงใจให้ซามูไรและขุนนางแคว้นต่างๆ ที่มีแนวคิดต่อต้านต่างชาติคล้ายกันมาร่วมมือกัน ช่วงนั้นพวกซามูไรส่วนใหญ่คิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง แบบใช้ความรุนแรงกำจัดคนที่คิดว่าเป็นพวกเห็นแก่อำนาจ ผลประโยชน์มากกว่ารักชาติอย่างง่ายๆ ทั้ง 3 แคว้นใหญ่มีประวัติขัดแย้ง, ทำสงคราม เกลียดโกรธ อาฆาต กันมานาน เรียวมะต้องใช้ความกล้าหาญและพยายามอย่างหนักที่จะหาช่องทางไปพบและเจรจากับคนสำคัญของฝ่ายต่างๆ กว่าที่แคว้นต่างๆ จะไว้วางใจหันมาร่วมมือกันได้
ช่วงแรกพวกเขาส่วนใหญ่ก็คิดร่วมมือกันทำสงครามเพื่อโค่นล้มโชกุน แต่กลุ่มปฏิรูปที่มองการณ์ไกลมองว่าถ้าแคว้นต่างๆ รบกับโชกุน ต่างชาติจะยิ่งได้เปรียบ ถือโอกาสเข้ามายึดญี่ปุ่นได้ พวกนักปฏิรูปจึงใช้วิธีการบีบให้โชกุนยอมสละอำนาจ และสร้างระบบการปกครองใหม่ แบบสภาขุนนางที่มีจักรพรรดิและรัฐบาลอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ญี่ปุ่นได้ปฏิรูปเรื่องกฎหมาย การศึกษา การเดินเรือ การทหาร อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ให้ทันสมัยอย่างเอาจริงเอาจัง จนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจสังคมทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกที่พัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมได้ทันโลกตะวันตก
คนไทยน่าอ่านและค้นคว้าต่อว่าทำไมญี่ปุ่นจึงปฏิรูปได้เร็วและมากกว่าไทย ซึ่งพยายามปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในยุคเดียวกัน (ตรงกับยุครัชกาลที่ 5) เช่น อาจจะเป็นเพราะญี่ปุ่นมีชนชั้นซามูไร, ช่างฝีมือ และพ่อค้า ที่ปรับตัวได้ดีกว่า, ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจการเมืองแบบกระจายอำนาจให้แคว้นต่างๆ มากกว่า ญี่ปุ่นมีปัญญาชนที่สนใจเรื่องการเรียนรู้และการปรับตัวและทำอะไรทำจริงมากกว่า เช่น ส่งคนไปเรียนตะวันตกทุกสาขา แปลหนังสือ อ่านหนังสือ และปฏิรูปการศึกษาเพื่อคนส่วนใหญ่อย่างจริงจังกว่าไทยมาก
ประเทศไทยวันนี้บริษัททุนข้ามชาติ ขุนศึก เจ้าที่ดินศักดินา นายทุนใหญ่ ยังคงมีอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างแนบเนียน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดวิเคราะห์ไม่ค่อยเป็น เลือกเชื่อเข้าข้างชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แบบ 2 ขั้วสุดโต่ง อย่างง่ายๆ กลุ่มชนชั้นนำทุกกลุ่มยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง มีความรู้และวิสัยทัศน์ที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมน้อย/คับแคบ ประชาชนและปัญญาชนไทยจะต้องวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยอย่างเจาะลึก และหาทางปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง เราจึงจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยแบบญี่ปุ่นและยุโรปได้