การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญของบริษัทมหาชนจำกัด

การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญของบริษัทมหาชนจำกัด

คณะกรรมการของบริษัทมหาชนจำกัด มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปีภายในสี่เดือน

นับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของบริษัท และอาจจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญก็ได้ตามที่เห็นสมควร ในการจัดประชุมสามัญประจำปีหรือเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญ ต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการที่ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และต้องเป็นไปตามมติของกรรมการเสียงข้างมาก กรรมการคนใดคนหนึ่งไม่มีอำนาจจัดประชุมหรือเรียกประชุม หากมีการจัดประชุมหรือเรียกประชุมโดยกรรมการเพียงคนใดคนหนึ่ง ก็จะทำให้การประชุมผู้ถือหุ้นนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบ (เทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2518)

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคน ซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด จะเข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องระบุเหตุผลในการที่ขอให้เรียกประชุมไว้ให้ชัดเจนในหนังสือ ในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันได้รับหนังสือจากผู้ถือหุ้น (มาตรา 100 พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด)

ตามบทบัญญัติของมาตรา 100 คณะกรรมการบริษัทไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่จัดประชุม (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4219/2541) อย่างไรก็ตามหากคณะกรรมการบริษัทไม่จัดประชุมภายในกำหนดหนึ่งเดือน ผู้ถือหุ้นก็ไม่มีอำนาจเรียกประชุมเองได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจผู้ถือหุ้นในการเรียกประชุมเองไว้ ซึ่งแตกต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทที่บัญญัติไว้ชัดเจนตามมาตรา 1173 ที่บัญญัติว่า การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้นในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัท ได้เข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด และตามมาตรา 1174 ที่บัญญัติว่าเมื่อผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญ ให้กรรมการเรียกประชุมโดยพลัน ถ้ากรรมการมิได้เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้องไซร้ ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ รวมกันได้จำนวนดั่งบังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้

การที่พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจผู้ถือหุ้นเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเองได้ ซึ่งแตกต่างจากบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้ผู้ถือหุ้นเรียกประชุมเองได้ ก็เนื่องจากสภาพและลักษณะของบริษัทมหาชนจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินกิจการขนาดใหญ่ การให้ผู้ถือหุ้นมีอำนาจเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเองได้ อาจจะเกิดความโกลาหลปั่นป่วนกระทบต่อการบริหารกิจของบริษัทก็เป็นได้

บริษัทมหาชนจำกัดที่ไม่เรียกประชุมผู้ถือหุ้น ตามมาตร 100 มึความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท แต่ก็มิใช่ว่าเมื่อผู้ถือหุ้นเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น ตามมาตรา 100 แล้ว จะต้องเรียกประชุมเสมอ โดยไม่สามารถตรวจสอบหรือดำเนินการใดฯได้เลย หากไม่จัดให้มีการประชุม จะต้องถูกดำเนินคดีโดยไม่อาจแก้ตัวหรือต่อสู้ได้เลยหรืออย่างไร

เมื่อผู้ถือหุ้นเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ถือหุ้นที่เข้าชื่อกันนั้น เป็นผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นหุ้นที่รับโอนมาก็มีข้อพิจารณาว่า การโอนนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามที่บัญญัติในมาตรา 58 หรือไม่ หากเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้อง ผู้รับโอนนั้นก็ไม่เป็นผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2512) เมื่อไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ก็ไม่มีสิทธิเข้าชื่อขอให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น

นอกเหนือจากเรื่องการรับโอนหุ้นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยังมีข้อพิจารณาด้วยว่า การถือครองหุ้นนั้นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การถือครองหุ้นนั้นต้องไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่นมาตรา 247 ที่บัญญัติว่าบุคคลใดเสนอซื้อ หรือได้มาไม่ว่าโดยตนเอง หรือร่วมกับบุคคลอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันเป็นผลหรือจะเป็นผลให้ตน หรือบุคคลอื่น เป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการรวมกันถึงร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์ เพื่อครอบงำกิจการ เว้นแต่การเป็นผู้ถือหลักทรัพย์นั้น เป็นผลจากการได้มาโดยทางมรดก ในการนี้ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ โดยอาจกำหนดให้บุคคลดังกล่าว หรือบุคคลที่ร่วมกันจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้

การถือครองหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 247 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 247 เป็นความผิดตามมาตรา 298 มีโทษทางอาญากำหนดไว้ การถือครองหุ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่มีโทษทางอาญากำหนดไว้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อขอให้บริษัทจัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น รวมทั้งไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงมติด้วย