ล้งจีนรุกผลไม้ไทยกับ 10 แนวทางแก้ปัญหา
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทยได้จัดสัมมนาเรื่อง
“ล้งจีนรุกผลไม้ไทย : ปัญหาและทางออก” เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมขอเริ่มจากที่มาที่ไปของปัญหาในเรื่องนี้ก่อนครับว่า เราต้องยอมรับกันว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ราคาสินค้าผลไม้ไทยตกต่ำ เห็นกันบ่อยครั้งว่าเกษตรกรได้นำผลไม้ของตนเองออกมาเทกันกลางถนน เหตุผลว่าราคาผลไม้ตกต่ำและต้องการให้รัฐบาลในช่วงเวลานั้นเข้าไปช่วยเหลือ
แล้ววันหนึ่งก็มีคนเข้ามาซื้อผลไม้ไทยอย่างมากมายแล้วให้ราคาดีด้วย ถ้าผมเป็นเกษตรกรปลูกผลไม้ขาย ผมมีความสุขแน่นอนกับการที่มีความต้องการสินค้าผลไม้ของผม แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักธุรกิจจีน หรือที่เรียกว่า “ล้งจีน” นั้น ไม่ได้รับซื้อผลไม้จากผู้รวบรวมอย่างเดียว มีการเข้าไปซื้อแบบเหมาสวน กรณีเหมาสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี กรณีลงทุนมาทำและเช่าโรงอบลำไยที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ และกรณีการตั้งบริษัททั้งที่ร่วมทุนและนอมินีเพื่อทำธุรกิจผลไม้ในไทย ดูเหมือนว่าจะมีการรุกคืบเข้ามาทำธุรกิจผลไม้แบบครบวงจร โดยเกือบจะไม่เหลือพื้นที่ทำธุรกิจให้กับคนไทย
หากสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจผลไม้ไทยทั้งระบบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนไทยหลายกลุ่ม ได้แก่ เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้รวบรวมผลไม้ ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย และผู้บริโภคชาวไทย สาเหตุสำคัญที่ล้งจีนเข้ามาอย่างรวดเร็วคือ “ตลาดจีน” ที่เป็นตัวกระตุ้นและปัจจัยสำคัญในการเข้ามาทำธุรกิจผลไม้ โดยที่ตลาดจีนถูกควบคุมโดยนักธุรกิจจีน ซึ่งนักธุรกิจไทยไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทอะไรได้เลย กฎหมายการนำเข้าผลไม้ของจีนก็ระบุชัดเจนว่า “ต้องนำเข้าผ่านบริษัทจีน” การที่ล้งจีนมีตลาดอยู่ในมือ ในอนาคตย่อมสามารถกำหนดราคาได้ตามที่ต้องการ การเข้ามาของล้งจีนเข้ามาในหลากหลายรูปแบบตามจังหวัดต่างๆ ของไทยที่แตกต่างกัน
ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการล้งจีนในไทยมีจำนวน 1,090 ราย แบ่งเป็นผู้ค้าลำไย 473 ราย ทุเรียน 556 ราย และมังคุด 65 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี (จำนวน 400 ราย) และตราด ผมขอเริ่มจากจังหวัดจันทบุรี ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเกษตรสวนลำไยที่ปลูก 150 ไร่ ได้ผลผลิตจำนวน 80-100 ตันต่อปี (ปีทำได้ 1 ครั้ง) ได้ทำสัญญากับล้งจีนในเดือนมิถุนายน 2558 ตกลงกันว่าจะรับซื้อลำไย 30 ตัน ราคา กก.ละ 49 บาท เงินมัดจำ 200,000 บาท โดยทำการซื้อลำไยเกรดเบอร์ทอง และเบอร์ 1-4 ในเดือนมิถุนายนที่เริ่มทำสัญญานั้นยังไม่มีดอกออก แสดงว่าล้งจีนเข้ามาเหมาสวนก่อนออกดอกผลเสียอีก
หลังจากนั้นอีก 45 วัน ดอกก็จะออก และอีก 45 วันมีจะมีผลลำไยเล็กๆ ออกมา นับจากนั้นไปอีก 4 เดือน คือราวๆ เดือนมกราคม 2558 ลำไยก็จะออกดอกผลเต็มที่ หลังได้ผลลำไยเต็มต้นแล้ว ล้งจีนจะเข้ามาเก็บและบรรทุกเอง สำหรับราคาขายที่ตลาดจีนอยู่ที่ 200 บาทต่อกก. มีบางสวนที่ล้งจีนไม่ได้เข้ามาซื้อเองแต่อาศัยเครือข่ายธุรกิจที่เป็นคนไทย (ทำหน้าที่บรรจุผลไม้ใส่กล่อง) และคนจีนอยู่ในไทย (ทำหน้าที่ทำสัญญากับเกษตรกร) คำถามคือว่า “สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกษตรกรคิดว่าดีหรือไม่ดี?” ผมได้รับคำว่า “ดี” แต่กังวลหรืออำนาจการต่อรองในสัญญาของเกษตรกรเองมีน้อย เช่น กรณีที่ในปีใดปีหนึ่งที่ขนาดของลำไยไม่ได้ตามขนาดที่ตกลงกันในสัญญา ล้งจีนจะปฏิเสธการซื้อทันที เกษตรกรเองต้องยอมรับการขาดทุนสำหรับปีนั้นไป
จะอย่างไรก็ตาม ล้งจีนเข้ามาทำธุรกิจสินค้าผลไม้ของไทย มองในแง่ของการทำตลาดในระยะสั้นถือว่า “ส่งผลดีต่อตัวเกษตรกรไทย” เพราะมีตลาดแน่นอน และราคาไม่ตก แต่ในระยะยาวไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลอย่างไร มีการคิดกันไปได้ต่างๆ นานา จะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ แล้วแต่จะคาดเดากันไป โดยส่วนตัวผม คิดว่าในระยะอันใกล้นี้ พอค้ารวบรวมผลไม้ส่วนใหญ่น่าจะเป็น “พ่อค้าจีน” ด้วยความพร้อมของเงินทุนและตลาดจีนที่มีความต้องการ สิ่งที่กังวลก็คือพ่อค้าจีนจะควบคุมการผลิตและการตลาดผลไม้ของไทยทั้งหมดหรือเปล่า หากวันหนึ่งเขาบอกว่าไม่ซื้อเพราะราคาแพงเกินไป เราจะทำอย่างไรกัน
สำหรับกรณีของจังหวัดเชียงรายนั้น มีความแตกต่างกับกรณีจังหวัดจันทบุรี เพราะยังไม่มีการเข้ามาเหมาสวนลำไย เหตุผลเพราะว่า สวนลำไยที่เชียงรายและเชียงใหม่นั้นยังเป็นรายเล็กๆ รายละไม่เกิน 5 ไร่ ที่เรียกว่า “ลำไยวัฒนธรรม” คือไม่ได้ทำเป็นเชิงพาณิชย์ การเข้ามาของล้งจีนเชียงรายเป็นทำการเช่าพื้นที่ปลูกกล้วย (กรณีการปลูกกล้วยที่อำเภอพญาเม็งราย) และเพียงรับซื้อจากผู้รวบรวมทั้งคนไทยและคนจีน ส่วนกรณีของเชียงใหม่นั้น เป็นการเข้ามาทำโรงลำไยอบแห้ง โดยการสร้างเพิ่มขึ้นและเช่าของคนไทยเดิม
ทั้ง 3 กรณี ผมมีข้อเสนอแนะอย่างนี้ครับ
10 ต้องจัดระเบียบฐานข้อมูลจำนวนผู้ประกอบการผลไม้ในแต่ละจังหวัดของไทย ไม่ใช่เฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเท่านั้นนะครับที่มีพ่อค้าจีนเข้าไป ภาคใต้บ้านผมก็มีฐานข้อมูลที่ว่าต้องมีรายชื่อ แยกตามประเภทผลไม้ แยกเป็นทุนจีน 100 เปอร์เซนต์ บริษัทร่วมทุน และบริษัทไทย ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
2) ต้องบริหารจัดการปริมาณผลผลิตของผลไม้ทั้งประเทศด่วน กรณีของลำไยขณะนี้เกษตรกรได้โค่นต้นยางพาราทิ้งเพื่อปลูกลำไยแทน ผมคิดว่านับตั้งแต่นี้ไปอีก 3 ปี ผลผลิตลำไยน่าจะล้นตลาด เมื่อเหตุการณ์นี้มาถึง “ราคาลำไยจะตกต่ำ” ทันที เกษตรกรชาวสวนจะเดือดร้อนอีก
3) กำหนดสัดส่วนการจำหน่ายผลผลิตผลไม้หรือไม่ ปัจจุบันผลไม้ดีๆ และมีคุณภาพ ถูกคัดเลือกส่งไปยังประเทศจีนเสียหมด ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ผมจะมีโอกาสกินผลไม้ของเมืองไทยเกรดดีๆ ลูกใหญ่ได้หรือไม่ เพราะเกรดดี ส่งออกนอกประเทศหมดแล้ว ต้องกำหนดสัดส่วนการส่งออกไปยังจีน
4) ทำธุรกิจร่วมกับล้งจีน ในหนึ่งธุรกิจผลไม้นักธุรกิจไทยและจีนต้องแบ่งการดำเนินไม่ให้ล้งจีนดำเนินการทั้งธุรกิจ
5) สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มบทบาทของ “สหกรณ์การเกษตร” ซื้อขายผลไม้ในต่างประเทศ และทำการรวบรวมผลไม้และขายให้กับล้งจีนโดยตรง ผมเรียกว่า “ตราดโมเดล” เพราะมีการทำการซื้อขายกับล้งเวียดนามซื้อเงาะ
6) หาช่องทางตลาดอื่น เช่น ตลาดอินเดีย ที่กำลังซื้อกำลังเพิ่มขึ้น คนไทยหรือนักธุรกิจไทยสนใจตลาดอินเดียน้อยเมื่อเทียบกับตลาดจีน ปี 2559 คาดว่าอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่สูงกว่าจีน
7) จัดระเบียบการซื้อขายผลไม้ใหม่ อะไรที่ล้งจีนทำได้และทำไม่ได้
8) เก็บภาษีนิติบุคคลจากบริษัทล้งจีนที่เข้ามาดำเนินการในไทย
9) โครงการผู้ซื้อพบผู้ขาย เกษตรกรไทยพบล้งจีนและเวียดนามที่ตลาดไฮกรีน (หนานหนิง) ตลาดลองเบียน (ฮานอย) และตลาดเจียงหนาน (กว่างโจว) โดยตรงเพื่อตัดคนกลางออก
10) ”จันทบุรีโมเดล” นักธุรกิจไทยทำการซื้อและการขนส่งไปถึงมือล้งจีนโดยตรง