สถิตย์ เคลียร์ปม คดี ทศท. คำพิพากษาชี้ชัด กรรมการ ไม่ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหาย

สถิตย์ เคลียร์ปม คดี ทศท. คำพิพากษาชี้ชัด กรรมการ ไม่ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหาย

“สถิตย์” โต้ข่าวเป็นจำเลยในคดีเก่าที่ฟ้องร้องอดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯชดใช้ค่าเสียหาย 3.3 หมื่นล้าน ระบุคำพิพากษาระบุชัดให้กรรมการไม่ต้องรับผิดชอบเพราะไม่ใช่จำเลยในคดี และคดีขาดอายุความ แนะสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวให้ข้อมูลถูกต้องกับสังคม

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคดีเก่าเรื่องที่มีการฟ้องร้องให้อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 3.3 หมื่นล้านบาทข้อหาเอื้อประโยชน์ AIS โดยมีการหยิบยกประเด็นว่านอกจาก ผ.อ.องค์การโทรศัพท์ที่ถูกตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหาย แล้วนั้นกรรมการ ทศท.ในขณะนั้นต้องรับโทษด้วยหรือไม่

โดยคดีนี้มีการหยิบยกประเด็นขึ้นมาในช่วงที่นาย สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ หนึ่งในกรรมการทศท.ในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันเพิ่งจะทำหน้าที่ในการเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมุ่งหวังเอาเรื่องนี้มาลดทอนเครดิตในการทำงานทำหน้าที่ประธานฯของนายสถิตย์ให้ลดลง

เกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3483/2563 พิพากษาให้จำเลย อดีตผู้อำนวยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยชดใช้เงินจำนวน 33,030,343,367.97 บาท พร้อมดอกเบี้ย และกรรมการทศท.ในขณะนั้น มีเหตุสมควรให้ร่วมรับผิดในความเสียหายด้วย นั้นนาย สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ หนึ่งในกรรมการทศท.ในขณะนั้น ได้พูดถึงประเด็นนี้ระหว่างการแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆนี้

 โดยชี้แจงว่ากระแสข่าวเรื่องดังกล่าวที่แพร่หลายออกไปนั้น ในทางกฎหมายเป็นข่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะเสนอความจริงเพียงครึ่งเดียว

“ในทางหลักรัฐศาสตร์ก็ดีหรือหลักทางสื่อมวลชนก็ดี ความจริงครึ่งเดียว คือไม่จริง ความจริงครึ่งเดียว คือโกหกผู้สื่อข่าวหรือนักวิเคราะห์ข่าวที่ดี ต้องอ่านคำพิพากษาให้ครบถ้วน มิใช่นำเพียงบางส่วนมาเผยแพร่ แล้วตีความเป็นผลร้ายต่อผู้อื่น”

นายสถิตย์กล่าวต่อว่าผู้เสนอข่าวไม่ได้อ่านคำพิพากษาทั้งหมด โดยเฉพาะในหน้าแรกของคำพิพากษาที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากรรมการไม่ได้เป็นจำเลย ไม่ได้เป็นคู่ความในคดี ข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้น กล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นพลความของคำพิพากษา

โดยไม่เข้าใจว่าผลความหรือความเห็นที่ปรากฏในคำพิพากษานั้น ไม่สามารใช้บังคับกับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่ความ ทั้งนี้ ตามความในประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา  145 แต่ได้กระพือข่าวเป็นการทั่วไป ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปด้วย

นอกจากนี้ ข่าวที่เผยแพร่ออกไปยังตัดตอนให้เห็นว่ากรรมการต้องรับผิดในความเสียหาย ซึ่งในทางกฎหมายไม่ถูกต้อง

เพราะกรรมการไม่ได้เป็นจำเลย และการอ่านคำพิพากษาคดีใดก็ตาม ต้องอ่านบรรทัดสุดท้ายของคำพิพากษาด้วยว่าศาลพิพากษาไว้อย่างไร บรรทัดสุดท้ายของคดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืน คำว่าพิพากษายืน คือยืนตามศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กล่าวถึงความรับผิดของคณะกรรมการแต่อย่างใด เพราะกรรมการไม่ได้เป็นจำเลยในคดีนี้

ดังนั้นหากตั้งเป็นสมมุติฐานว่า ความเห็นที่เป็นพลความของศาลเป็นที่น่าเชื่อถือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจรับฟังไปดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานอย่าง ปปช. ก็มีความเห็นว่ากรรมการไม่ได้ร่วมกระทำผิด และอัยการก็ไม่ได้ฟ้อง

ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ จนถึงวันนี้เรื่องนี้ขาดอายุความไปแล้ว

“โดยสรุป ในคดีนี้กรรมการไม่ได้เป็นจำเลย ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่เป็นข่าวแต่ประการใด"