เปิดข้อเท็จจริง ทศท.เอื้อเอกชนปี44 ไม่กระทบ สถิตย์ ทำหน้าที่เลือกบอร์ด ธปท.
เปิดเอกสารตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี ทศท.แก้สัมปทานเอื้อเอกชนปี 2544 พบคำพากษาศาล – ป.ป.ช. มีคำสั่งไม่ฟ้องและไม่ได้ให้บอร์ด ทศท.ชดใช้ค่าเสียหาย และคดีหมดอายุความไปเรียบร้อย ไม่กระทบการทำหน้าที่ “สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ทำหน้าที่ประธานเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
การคัดเลือกประธานคณะกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน ประเด็นหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ฝ่ายการเมืองเสนอคนเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท.ได้หยิบยกประเด็นของคดีความในอดีตมากดดันให้นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2567 นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ได้ยื่นหนังสือ คัดค้านการเลือกประธานกรรมการ ธปท. (ประธานบอร์ด แบงก์ชาติ) รวมทั้งขอให้นายสถิตย์ลาออกจากคณะกรรมการสรรหาฯ โดยกล่าวหาว่านายสถิตย์ เคยถูกศาลกีฎาสั่งชดใช้ความเสียหายกรณีแก้ไขสัมปทาน ให้กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) เมื่อปี 2544
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าวพบว่าคดีความที่นายพิชิตได้กล่าวถึงเป็นคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา 3483/2563 ที่เจ้าหน้าที่พนักงานสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษ ได้ฟ้องและมีคำพิพากษาให้นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ต้องโทษจำคุก และชดใช้เงินความเสียหาย โดยตามเอกสารได้ระบุว่าในคดีนี้จำเลยมีเพียงคนเดียว และอัยการไม่ได้ฟ้องคณะกรรมการ ทศท.(บอร์ดทศท.) ในขณะนั้นให้เป็นจำเลยในคดี
จำเลยในคดีนี้มีบุคคลเดียว
การฟ้องดำเนินคดีมีเพียงแต่ผู้อำนวยการเท่านั้น กรรมการจึงไม่ได้เป็นจำเลยในคดี และคำพิพากษาที่อ้างถึงไม่มีผลต่อบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดี ซึ่งไม่มีโอกาสแสดงข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปในส่วนนี้คำพิพากษาไม่ได้สั่งให้คณะกรรมการ ทศท.ในขณะนั้นเป็นจำเลยร่วมให้ร่วมชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด
ป.ป.ช.ไม่ฟ้องกรรมการ ทศท.
อีกส่วนในส่วนของเอกสารที่ระบุถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ในเดือน ก.พ.2558 คณะกรรมการ ปปช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ากรรมการในทศท.ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดตามที่กล่าวหาเช่นกัน
คดีนี้หมดอายุความแล้ว
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในเรื่องของอายุความของคดีนี้ พบว่าคดีหมดอายุความไปแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2544 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 20 ปีแล้ว
ในเรื่องนี้จึงไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายที่คัดค้านการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะนำประเด็นเรื่องคดีความนี้มาคัดค้านการทำหน้าที่ของนายสถิตย์ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก เพราะจะทำให้ขั้นตอนในการคัดเลือกต้องยืดเยื้อออกไป และอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดไปจากข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น