4 ทศวรรษ คนเดือนตุลา ทิศทางที่ต้องทบทวน
ชัยวัฒน์ สุรวิชัย อดีตแกนนำนศ.ยุค 14 ตุลาคม16 ออกมาให้มุมมองเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่แตกต่างออกไป
โดยเรียกร้องให้มีการสรุปบทเรียนข้อผิดพลาดของขบวนการนักศึกษา ประชาชน ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ไม่ใช่ชี้นิ้วไปที่ฝ่ายรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แกนนำนศ.ที่มีแนวคิดซ้ายจัดในยุคนั้น ควรจะมีส่วนรับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย เพราะหลายฝ่ายเคยเสนอให้มีการยกเลิกการชุมนุม เนื่องจากจะไปสร้างเงื่อนไขให้มีการปราบปราม แต่แกนนำ นศ.ซ้ายจัดในวันนั้นไม่ยอมฟัง” สนามข่าว
หลายทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยให้การยอมรับคนเดือนตุลา ว่าเป็นคนเสียสละ มีอุดมการณ์ โดยเฉพาะผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้น ได้รับการเชิดชูว่า เป็นคนกล้า กล้าออกมายืนแถวหน้า ต่อกรกับเผด็จการแบบไม่กลัวตาย แต่เนื้อข่าวข้างบน หากมีใครบางคนไปตีความว่า ผู้นำนักศึกษาบางคนใช้วิธีเหยียบบนกองศพเพื่อน เพื่อให้ตนเองสูงเด่นขึ้นมา ภาพที่เคยปรากฏจะพลิกกลับในทันที
ไม่ว่าท่านจะคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ข้างต้น สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ในขบวนการนักศึกษายุคนั้น มีนักศึกษากลุ่มใหญ่โดยเฉพาะแกนนำในสถาบันต่างๆ เริ่มฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ สายเหมาเจ๋อตง บางคนศึกษาทฤษฎี วิทยานิพนธ์กันอย่างลึกซึ้ง หลายคนถึงขนาดใฝ่ฝันว่า วันหนึ่งเมื่อสู้รบชนะ จะนำธงแดงไปโบกกลางสนามหลวง
ผมจะไม่ปรักปรำว่า ผู้นำนักศึกษาในยุคนั้นบางคนได้มีการวางแผน ให้มีการยั่วยุเพื่อให้เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หากคำพูดของคุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย เป็นความจริง ก็น่าจะอนุมานได้ว่า แกนนำซ้ายจัดบางคน ได้คาดหมายว่าน่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แล้วตั้งใจปล่อยให้เหตุการณ์ไหลไปตามความคาดหมายของตน โดยเขาเชื่อว่า หากมีการล้อมปราบ มีการนองเลือด มีการสูญเสียชีวิต มันจะเป็นเชื้อไฟให้สถานการณ์สุกงอม และใช้สถานการณ์นี้ในการปลุกเร้าให้พลังนักศึกษาทั่วประเทศ ลุกฮือขึ้นจับอาวุธสู้กับอำนาจรัฐ
คำถามคือ เรามีสิทธิ์อะไรที่จะเอาชีวิตคนอื่นมาสังเวยให้กับแผนการของตน จริงอยู่ ทฤษฎีหายเล่มอาจเขียนกันมาว่า ต้องยั่วยุให้มีการนองเลือด แล้วปลุกปั่นให้มวลชนจับอาวุธขึ้นสู้ (เหมือนกับที่มีการแห่ศพเมื่อ 2-3 ปีก่อน) แต่คำถามคือ ทำไมต้องใช้ชีวิตเพื่อน ทำไมไม่ใช้ชีวิตตนเอง ชีวิตใคร ใครก็รัก ลูกหลานใคร ใครก็หวงแหน เราเคยนึกถึงหัวอกของผู้ที่สูญเสียหรือไม่ หรือเราคิดแต่ว่าจะสูญเสียเท่าไรไม่ว่า ขอให้ฝ่ายเราชนะ เพราะเบื้องลึกแล้ว เรารู้แก่ใจว่า ทุกครั้งที่แกนนำของแต่ละฝ่ายขัดแย้งกัน สู้รบกัน คนที่สังเวยชีวิต ล้วนเป็นหมากเบี้ย ไม่ใช่เรา
ที่สำคัญ เราเอาความเชื่อของเราไปยัดเยียดให้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือไม่ได้เห็นด้วยกับเราตั้งแต่แรก ทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะจำยอม แบบตกกระไดพลอยโจน ด้วยการปล่อยข่าวลือในช่วงนั้นว่า ใครไม่เข้าป่า ทหารจะจับเข้าคุกทั้งหมด ทำให้หลายคนต้องทิ้งบ้านทิ้งพ่อแม่ไปอยู่ป่า ทั้งที่ไม่เคยอยู่ในห้วงคำนึงเลย
เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึง พวกก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ที่ใช้อุดมการณ์ทางศาสนาปลุกปั่นให้หญิงสาว เด็กเล็ก ติดระเบิดพลีชีพเข้าไปทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม คำถามคือ ทำไมพวกหัวโจกถึงไม่ลงมือทำเอง เขาได้แต่อ้างว่า ตนเองเป็นมันสมอง เป็นนักวางแผน ต้องอยู่วางกลยุทธ์ต่อไป เราแบ่งงานกันทำ แต่ถ้าคิดกันให้ลึกซึ้ง ล้วนเป็นการคิดที่เข้าข้างตนเองทั้งสิ้น
สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือ แกนนำนักศึกษาในยุคนั้น ต่างทุ่มเทกายใจไปหลายอย่าง(รวมถึงชีวิตเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายสิบคน) แต่สุดท้าย เมื่อเข้าไปสัมผัสกับเนื้อแท้ของระบอบคอมมิวนิสต์ กลับพบว่ามันไม่ใช่คำตอบอย่างที่คิด ซ้ำร้าย มันกลับยิ่งมีการผูกขาด รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจในมือของสหายผู้นำเพียงไม่กี่คน
หลังจากอกหักจากอุดมการณ์ขายฝัน แกนนำหลายคนมุ่งสู่การเป็นนักวิชาการ เพื่อชี้แนวทางให้สังคม ขณะที่แกนนำบางส่วนมุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจรัฐด้วยการเข้ามาทำงานให้นักการเมือง พวกเขามีความเชื่อว่า หากสามารถทำให้นักการเมืองไว้ใจได้ วันหนึ่งตนจะได้เป็นเสนาบดี สามารถผลักดันนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ได้
แต่เมื่อเขาเข้าสู่วังวนของอำนาจ มันก็เหมือนมีมนต์ดำแบบแหวนทองในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings ที่ทำให้เขามีอาการหน้ามืดตามัว ทุกเรื่องในพรรคการเมืองที่ตนสังกัด ต้องชนะ หากมีเรื่องผิดพลาดเสียหายเกิดขึ้นในพรรค ต้องพยามทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่ผิด เหล่าแกนนำคนเดือนตุลาต่างผันตัวเป็นกุนซือด้านวางกลยุทธ์ให้นักการเมือง จึงเป็นที่มาของการวางหมากเพื่อให้พรรคของตนชนะ โดยไม่สนใจความถูกต้องหรือความชอบธรรมของวิธีการ เช่น การให้ลิ่วล้อของพรรคแฉกลับคนที่มาเปิดโปงการโกงกินของฝ่ายตน เพื่อทำให้คนที่เปิดโปงสูญเสียความน่าเชื่อถือ เข้าลักษณะ เอ็งต่างหากที่โกง แล้วใครจะมาเชื่อถือคำพูดของเอ็ง
หรือหากฝ่ายตนกำลังเพลี่ยงพล้ำ ก็รีบเปิดประเด็นใหม่เพื่อกลบข่าวของฝ่ายตน เช่น พบทุจริตด่านเก็บเงิน ทำกันมานาน โกงกันนับร้อยล้านบาท เป็นต้น เรียกได้ว่า ใช้สารพัดวิชาเพื่อรักษาฐานอำนาจให้นักการเมืองฝ่ายตน ซึ่งนานวัน คนเดือนตุลากลุ่มนี้จะรู้สึกว่านักการเมืองที่ตนพึ่งพิงอยู่นี้ ได้กลายเป็นผู้มีพระคุณที่ต้องจงรักภักดีกันไปจนวันตาย พวกเขาลืมอุดมการณ์ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง หรือจะไปสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับระบบการเมืองไทย
ยิ่งเวลาผ่านไป แกนนำเหล่านี้ เริ่มมีความคิดว่า หากเล่นการเมือง ใครๆก็ต้องทำกันแบบนี้ ต้องใช้เล่ห์เพทุบาย เล่นการเมือง มันต้องมีการโกงกินกันบ้าง ไม่งั้นจะเอาเงินที่ไหนมาบริหารพรรค สุดท้าย ท่านคงพอจะทายกันได้ว่า คนเราเมื่อได้ขายวิญญาณ ขายอุดมการณ์ แลกกับเงินและอำนาจไปแล้ว วันหนึ่งหากนักการเมืองคนเดิมตายไป แกนนำนักศึกษาเหล่านั้นนั่นแหละที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแก่นกลางของความชั่วร้ายเสียเอง
ผมไม่ได้ตั้งใจกล่าวหาคนเดือนตุลาหรือปัญญาชนในพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ผมคิดว่าเป็นกันทุกพรรค เพียงแต่จะมากจะน้อย แต่ล้วนถูกกลืนกินเป็นเนื้อเดียวกับรากเหง้าเดิมของพรรคการเมืองนั้น มีน้อยคนที่สามารถมีสติรู้ตัวและถอนตัวออกมา และมีน้อยยิ่งกว่าที่สามารถเข้าไปเปลี่ยนปรัชญาหรือแนวคิดของคนในพรรค
หวังว่าปรากฏการณ์ที่ผ่านมา จะได้เป็นข้อเตือนใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้มีสติปัญญายั้งคิดว่า การมีอุดมการณ์อยากเข้าไปแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ดี การเข้าไปสู่ศูนย์กลางของอำนาจรัฐไม่ผิด แต่ต้องเข้าไปอย่างมีสติ อย่าให้อำนาจมาครอบงำจิตใจเรา ต้องดำเนินกิจกรรมด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรม อย่าไปยึดตัวบุคคล อย่าไปหนุนฐานอำนาจให้นักการเมืองจนไม่แยกชั่วดี ไม่ว่าเราจะอยู่พรรคไหน ค่ายไหน สีไหน ขอให้ยึดหลักความถูกต้อง สนับสนุนให้มีการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส เชื่อว่าสังคมเราต้องดีขึ้นได้แน่นอน ผมยังมีความหวังกับประเทศไทยเสมอ
ในโอกาสที่ครบรอบเหตุการณ์สำคัญในเดือนตุลา หวังว่าเราจะมีการทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา เราต่างผ่านร้อนผ่านหนาวมามากพอแล้ว ควรมีสติยั้งคิด ขณะเดียวกัน ต้องช่วยกันเตือนสติเพื่อนด้วยว่า เราจะต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา แต่อย่าไปเป็นตัวปัญหาเสียเอง
-----------------
บรรยง วิทยวีรศักดิ์