กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย จะถอยหลังหรือเดินหน้า?

กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย จะถอยหลังหรือเดินหน้า?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า

ฉบับใหม่ ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจากข้อมูลที่ปรากฏร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อสนช. เพื่อพิจารณาเป็นการด่วน

ผู้อ่านที่ติดตามกฎหมายแข่งขันทางการค้าคงพอจะทราบว่า ได้มีความพยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว โดยมีหลายๆ ประเด็นที่หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นว่าควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขผ่านทางบทความและบทวิเคราะห์ต่างๆ จำนวนมาก ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะหยิบบางประเด็นที่น่าสนใจในร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่มานำเสนอและศึกษากับผู้อ่านไปพร้อมๆ กันนะคะ

ประเด็นแรกคือเรื่องรัฐวิสาหกิจว่าจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ในปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ดังนั้น พฤติกรรมการแข่งขันในการประกอบธุรกิจของรัฐวิสาหกิจจึงไม่ถูกกำกับดูแล แต่ตามร่างกฎหมายที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. นั้น แม้ว่ารัฐวิสาหกิจโดยหลักยังคงได้รับการยกเว้น แต่ขอบเขตในการได้รับการยกเว้นนั้นน้อยลงคือไม่ได้เป็นการยกเว้นทั้งหมดเสียทีเดียวคือยกเว้นเฉพาะการกระทำของรัฐวิสาหกิจในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค

ประเด็นที่สอง เรื่องนิยามคำว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” ซึ่งตามกฎหมายฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในความเห็นของผู้เขียนมีความคลุมเครือ และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลยพินิจได้มาก ในการที่จะกำหนดให้ใครเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด แต่ในร่างกฎหมายใหม่มีการขยายความเพิ่มเติมโดยกำหนดให้มีการคำนึงปัจจัยสภาพการแข่งขัน ซึ่งจะต้องพิจารณาจำนวนผู้ประกอบธุรกิจในตลาด จำนวนเงินลงทุน การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ช่องทางการจัดจำหน่าย เครือข่ายในการประกอบธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ กฎระเบียบของภาครัฐ และปัจจัยอื่นตามที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าประกาศกำหนดด้วยอีกทั้งยังกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาทบทวนเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันออกประกาศด้วย อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ ยังคงไม่มีการกำหนดเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตตลาดเพื่อที่จะหาส่วนแบ่งตลาดและผู้มีอำนาจเหนือตลาด

ประเด็นที่สาม คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะได้รับการแต่งตั้งโดยผ่านคณะกรรมการสรรหา โดยเมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมแล้ว ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามรวมถึงจะต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ (ต่างจากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน) และต้องเป็นผู้มีผลงานมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสิบปีในสาขานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน การบัญชี อุตสาหกรรม การบริหารธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค หรือในสาขาอื่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า

ประเด็นที่สี่ การกำหนดข้อห้ามการกระทำต่างๆ ที่จะเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน จากเดิมที่มีข้อห้ามอยู่ 5 ข้อใน 5 มาตรา ตามมาตรา 25-29 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายใหม่จะพบว่าข้อห้ามต่างๆ อยู่ใน 5 มาตราตั้งแต่มาตรา 50-55 แต่ข้อห้ามกลับไม่ได้มี 5 ข้อเช่นเดิม มีเพียง 4 ข้อแต่เพิ่มข้อยกเว้นของข้อห้ามข้อหนึ่งขึ้นมาทำให้มี 5 มาตรา

ในคราวหน้าเราจะมาศึกษารายละเอียดของข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นหัวใจของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ากันค่ะ แล้วพบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

---------------------

วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่