การศึกษาไทยอาการหนัก คุณหมอต้องส่งเข้าห้อง ICU
เชื่อหรือไม่ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 18 คน
รัฐมนตรีศึกษาฯ คนปัจจุบัน นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ บอกว่าท่านมีเวลาบริหารกระทรวงนี้ประมาณหนึ่งปี จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายให้ชัดเจน “และอย่าลืมว่าผมไม่ใช่ Superman”
ผมเชิญท่านรัฐมนตรีมาตั้งวงสนทนากับผู้ที่สนใจ และเกี่ยวข้องกับวงการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “ปฏิรูป” การศึกษาเพราะหากเราทำให้มาตรฐานการศึกษาดีขึ้นไม่ได้ ก็อย่าได้หวังว่าจะสร้างชาติสร้างบ้านเมืองได้
“ผมต้องการให้ครูสอนเด็กไทยให้เกลียด และต่อต้านคอร์รัปชันตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนเล็ก ๆ” ท่านรัฐมนตรีประกาศก้อง ถือเป็นหนึ่งในลำดับต้น ๆ ของ “วาระ” แห่งการทำหน้าที่ในกระทรวงนี้
ลำดับสำคัญไม่แพ้กันคือการประกาศนโยบายขับเคลื่อนโครงการ “โรงเรียนไอซียู” หรือโรงเรียนทั่วประเทศที่อยู่ในภาวะด้อยคุณภาพ จำเป็นต้องได้รับการรักษาดูแลอย่างเร่งด่วน เหมือนคนไข้อาการหนักที่ต้องเข้าห้อง Intensive Care Unit (ICU)
คุณธีระเกียรติเป็นหมอ จึงมองเห็นการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องเริ่มด้วยการดูแลรักษาฟื้นฟูโรงเรียนที่ป่วยหนักที่สุดก่อน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,000 โรงเรียนทั่วประเทศ
รัฐมนตรีศึกษาคนนี้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกแบบแผนประเมินที่จะใช้เพื่อวินิจฉัยโรงเรียนไอซียู รวมถึงแผนที่จะใช้ในการรักษาเพื่อให้โรงเรียนพ้นจากห้องไอซียูว่าต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ต้องประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชนอย่างไร
ข่าวบอกว่ารัฐมนตรีธีระเกียรติจะเปิดให้โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการรอบแรกในวันที่ 4 มกราคมนี้โดยผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
น่าสนใจว่าคุณหมอธีระเกียรติพุ่งเป้าไปตรงโรงเรียนที่มีปัญหาในต่างจังหวัดก่อน เพราะนั่นคือสาเหตุของความตกต่ำของมาตรฐานการศึกษา
อีกเป้าหมายหนึ่งคือการเร่งให้เด็กไทยสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ด้วยการปรับหลักสูตร ลดการสอนไวยากรณ์ ให้เน้นการพูดโดยดึงเอาครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว มาช่วยกระตุ้นให้เด็กไทยกล้าพูดกล้าถามในภาษาอังกฤษมากขึ้น
หนีไม่พ้นว่าการจะบรรลุเป้าหมายเช่นนี้ ต้องทำให้คุณภาพครูทั่วประเทศกระเตื้องขึ้นอย่างเป็นระบบ
สามสี่ “วาระต้น ๆ” ของการทำหน้าที่รัฐมนตรีศึกษาช่วงหนึ่งปี คงจะหนักหนาสำหรับคุณหมอธีระเกียรติไม่น้อย แต่หากสามารถลดความสลับซับซ้อนของระบบราชการ และปิดช่องโหว่ที่ทำให้กระทรวงศึกษาฯมีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชันอันดับ 3 ของกระทรวงต่าง ๆ ได้ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งได้ด้วย ก็ต้องถือว่าเป็นการ “พลิกโฉม” กระทรวงนี้ได้ไม่น้อยทีเดียว
ในวงเสวนา มีตัวแทนเยาวชนที่ยกมือถามว่าทำอย่างไรในกระบวนการตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาฯจึงให้ความคิดเห็นของนักเรียนเองมีโอกาสได้สอดแทรกเข้าไปได้ เพราะแม้ว่านักเรียนเห็นว่านโยบายหลายเรื่องเป็นแนวทางที่ดี แต่เมื่อลงมาถึงระดับข้าราชการกลับไม่เดินหน้าไปตามที่ตั้งเอาไว้ บางทีนักเรียนในฐานะ “ผู้บริโภค” อาจจะสามารถสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงให้กับระดับนโยบายที่เป็น “ผู้ผลิตสินค้า” ให้ตรงกับความต้องการได้
วงการศึกษาบ้านเรามีปัญหามากมาย แตะที่ไหนล้วนมีปัญหาที่นั่น แต่ในเมื่อนี่คือหัวใจของการ “เขยื้อนภูเขา” แห่งการปฏิรูปสังคมส่วนรวม ก็หนีไม่พ้นว่าทุกภาคส่วนจะต้องมีบทบาท ในการเขย่าให้ระบบการศึกษาของชาติขยับไปข้างหน้าให้ได้
หาไม่แล้ว ก็เลิกพูดถึง “อนาคตของบ้านเมือง” ได้เลย!