ข้อคิด Geopolitics พระเอกปี 2017
ในปี 1997 สมัยที่เกาหลีใต้ยังติดเชื้อวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่นั้น กองทุนสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ
Lone Star เล็งเห็นโอกาสเหมือนดังที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ว่าไว้ “จงกล้าตอนที่คนอื่นกลัว” จึงไปซื้อแบงก์ในเกาหลีที่มีพื้นฐานดี แต่ราคาถูกที่ชื่อ KEB ไว้ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ แล้วหวังจะนำไปขายตอนเศรษฐกิจกลับมารุ่งเรือง โดยซื้อมามูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี เศรษฐกิจเกาหลีเริ่มจะกลับมาเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิม ทว่าในสังคมเกาหลีก็เริ่มมีกระแสการแอนตี้ชาวต่างชาติที่เข้ามาแสวงหากำไรจากการซื้อถูกและขายแพงของสินทรัพย์ในเกาหลี
เจ้ากองทุน Lone Star ของสหรัฐอเมริกา มีคนจะขอซื้อต่อด้วยราคาถึง 6 พันล้านดอลลาร์ ไฉนเลยจะไม่ขายละ แต่ขายเอากำไรไม่พอ ยังจะไม่เสียภาษีอีก เนื่องจากกองทุนดังกล่าวมีบริษัทย่อยอยู่ที่ประเทศเบลเยียมด้วย ก็เลยเอาดีลนี้ไปทำกันที่เบลเยียม เพราะเหตุผลที่ว่าไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด
ก็เลยเสร็จครับ กระแสประชาชนเกาหลีที่กดดันมิให้ฝรั่งหัวแดงแถมยังหัวหมออีกต่างหากนั้นมาแรงมาก จนกระทั่งรัฐบาลเกาหลีต้องพยายามหาช่องทางทางกฎหมายระงับไม่ให้ดีลการขายนี้ทำสำเร็จ และก็เป็นผลจริงๆ เมื่อกองทุน Lone Star ไม่สามารถขายธนาคาร KEB แม้จะเจรจามากับผู้ซื้อถึงสามเจ้า แต่ก็ล้มไม่เป็นท่าจากการแทรกแซงของรัฐบาลเกาหลีทุกทีไป
สำหรับนักลงทุนแล้ว หากคิดจะลงทุนหุ้นในประเทศใด (หรือเซกเตอร์ใด ก็อาจจะประยุกต์ได้) ขอให้พิจารณาดัชนีชี้โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายจากการลุกฮือประชาชน และดัชนีที่ชี้ถึงโอกาสการไม่ยอมให้เงินลงทุนออกจากประเทศ (Expropriations) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนด้วยครับ
ดัชนีชี้โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายจากการลุกฮือประชาชนมี 2 ปัจจัย ที่น่าจับตา ได้แก่
หนึ่ง โครงสร้างประชากร หากประเทศใดที่มีสัดส่วนของประชาชนอายุระหว่าง 15 - 25 ปี ในสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษ ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายได้ถ้ามีประเด็นที่ประชาชนไม่พอใจ จะเห็นได้จากการประท้วงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหรับ สปริงส์ หรือที่เมืองอูฮั่นก็ตาม ผู้ที่เข้าร่วมประท้วงส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอายุน้อยเกือบทั้งสิ้น
รวมถึงหากเป็นเยาวชนเพศชายก็มีโอกาสที่จะสร้างเหตุการณ์ความวุ่นวายดังกล่าวมากกว่าเพศหญิง จึงอาจคิดได้เหมือนกันว่า จีนและอินเดียซึ่งในสังคมมักนิยมบุตรที่เป็นเพศชาย อาจทำให้มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายได้มากกว่า ทั้งนี้มิได้หมายความว่าประเทศทั้งสองจะต้องเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย เพียงแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เสริมให้เกิดได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ดัชนีอื่นๆ อาทิ อัตราการตายของทารกแรกเกิด การขาดการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและน้ำดื่ม รวมถึงความรุนแรงต่อเยาวชน ยังเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงระดับความเสี่ยงดังกล่าว เนื่องจากหากดัชนีดังกล่าวสูง ก็น่าจะสามารถประเมินได้ว่าเยาวชนที่เติบโตมาจะไม่ได้รับการดูแลที่ดีมากนัก
สอง โครงสร้างของเมืองหลวงก็มีผลต่อความรุนแรงของเหตุการณ์ความวุ่นวายเช่นกัน จะเห็นได้ว่า ประเทศฟิลิปปินส์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มักจะเกิดรัฐประหารอยู่บ่อยครั้งที่กรุงมะนิลา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จบ้าง ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากกรุงมะนิลาเป็นศูนย์รวมของทั้งสถานที่ราชการ คณะรัฐบาล และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าทำการก่อรัฐประหารเพียงแห่งเดียวสำเร็จก็สามารถยึดครองประเทศได้สำเร็จ เรียกว่าภูมิประเทศส่งผลให้ทำได้ค่อนข้างง่ายและไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนักในมุมมองของผู้ที่คิดจะก่อรัฐประหารครับ
ส่วนดัชนีที่ชี้ถึงโอกาสการไม่ยอมให้เงินลงทุนออกจากประเทศเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
หนึ่ง ประเทศใดก็ตามที่มีทรัพยากรมาก อาทิ น้ำมัน ซึ่งถือว่าไม่ต้องง้อใครเรื่องแหล่งทรัพยากรอยู่แล้ว รวมถึงประเทศใดก็ตามที่ไม่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากนอกประเทศ เช่น จีน ซึ่งมีฐานลูกค้าในประเทศที่มากพอแล้วนั้น เสี่ยงต่อการที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะเชิดเงินหนีได้ง่ายกว่าประเทศที่ไม่มีข้อได้เปรียบดังกล่าว
สอง ในช่วงเวลาที่บริษัทหรือรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วยังไม่มาลงทุนที่ประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มบริษัทหรือรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วจะได้เปรียบ เนื่องจากมีโอกาสเลือกประเทศที่จะลงทุน ทว่ายิ่งเมื่อบริษัทหรือรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วลงทุนไปนานๆ จนเกิดต้นทุนที่จมอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ประเทศกำลังพัฒนาก็จะกลับมาได้เปรียบ เรียกว่า ต้นทุนได้จมลงไปแล้วสำหรับการลงทุน
สาม หากรัฐบาลเบี้ยวแล้วดูดีในสายตาประชาชน อาทิ นายฮูโก ชาเวซ ผู้นำเวเนซุเอลาที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯแล้วได้ใจชาวมุสลิมในประเทศ หรือกรณีของเกาหลีใต้ที่มีต่อกองทุน Lone Star ของสหรัฐฯ เป็นต้น
ปี 2017 และอีก 2-3 ปีข้างหน้า ภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในการลงทุน ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีเรื่องราวหลากหลายในประเด็นนี้ มาฝากท่านผู้อ่านในปีนี้ครับ