บริหารความเสี่ยง ที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยได้เผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ
ที่เกิดจากปัจจัยเรื่องลมฟ้าอากาศเป็นสำคัญ เช่น ภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อต้นปีนี้ที่กินพื้นที่กว่าสิบจังหวัดในภาคใต้ และได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนจำนวนหลายแสนคน ทำให้มีการปิดสนามบินและถนนหนทางในบางช่วง และสร้างความเสียหายกับพื้นที่เกษตรกรรมหลายแสนไร่ (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นมูลค่าความสูญทางเศษฐกิจและสังคมจำนวนไม่น้อย และแม้ว่ารัฐบาลจะได้จัดสรรงบประมาณบางส่วน เข้าไปให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น แต่ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจะครอบคลุมความเสียหายได้ทั้งหมดซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดกับทุกประเทศที่ประสบกับภัยภิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่
การประกันภัยความเสี่ยงจากน้ำท่วมและภัยธรรมชาติรูปแบบอื่นๆ จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งซึ่งประชาชนทั่วไป สามารถใช้เพื่อแบ่งเบาภาระผลกระทบที่จะเกิดจากภัยพิบัติได้อีกทางหนึ่ง มีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่ช่วยกำกับให้เกิดความเป็นธรรม ในเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ทันเวลา แก่ผู้ทำประกันภัยที่ได้รับความเสียหายในกรณีน้ำท่วมที่ภาคใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาพื้นฐานเรื่องการประกันภัยความเสี่ยงจากวินาศภัยต่างๆ ทางธรรมชาตินั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยจากน้ำท่วมใหญ่ หรือ พายุเฮอริเคนที่พัดถล่มชายฝั่งของต่างประเทศนั้น ก็มักจะมีสาเหตุมาจากลักษณะเฉพาะตัวของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะมีความเกี่ยวข้องกับระดับของความน่าจะเป็นที่มีค่อนข้างต่ำของการเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นในแต่ละครั้ง (ซึ่งในเชิงเทคนิคจะเรียกความเสี่ยงในลักษณะนี้ว่า tail risk) แต่หากเมื่อได้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นแล้ว มันก็จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนจำนวนมากมายได้เช่นกัน
จากลักษณะพิเศษเฉพาะของการเกิดภัยธรรมชาติดังกล่าวที่มักเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดเป็นประจำเหมือนอุบัติเหตุอื่น ๆ โดยทั่วไปนั้น จึงทำให้อุตสาหกรรมการประกันภัยของหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มที่จะพากันคาดการณ์ค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไปในทิศทางที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ ทั้ง ๆ ที่บริษัทเหล่านั้นก็มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินวินาศภัยอยู่ด้วยแล้วก็ตาม จึงมักพบในภายหลังว่า ความคุ้มครองภัยที่ได้มีเปิดขายให้กับตลาดไปแล้วนั้น เป็นความคุ้มครองที่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยให้ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด หรือไม่ก็อาจมีปัญหาว่าได้มีการไปซื้อประกันภัยต่ออีกทอดหนึ่ง (reinsured) ที่ไม่เพียงพอครบถ้วน กับความเสียหาย เป็นต้น
ดังนั้น ในบางประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกานั้น รัฐบาลกลางจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งเป็นระบบกองทุนประกันภัยพิบัติในระดับชาติขึ้น เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น และหวังว่าจะช่วยเหลือให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงบริการประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทั่วถึงมากขึ้นและจ่ายในอัตราราคาค่าประกันที่สามารถรับภาระได้ ทั้งนี้ก็เพราะเกรงว่า หากปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยฝ่ายเดียวแล้ว ก็อาจเกิดปัญหาในเชิงจริยาวิบัติ (moral hazard) ได้ เช่น บริษัทเอกชนบางแห่งอาจพยายามหลีกเลี่ยงการขายความคุ้มครองให้กับลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น หรือไม่ก็ตั้งราคาขายที่สูงมากเกินไป อย่างไรก็ตามในกรณีของกองทุนระดับชาติของสหรัฐดังกล่าวนั้น ก็ปรากฎปัญหาอื่นขึ้นได้เช่นกัน กล่าวคือในภายหลังเมื่อสหรัฐได้ประสบกับภัยพิบัติครั้งใหญ่หลายครั้ง เช่น กรณีของ Hurricane Andrew ที่ Florida ในปี ค.ศ. 1992 หรือ Hurricane Katrina ที่ New Orleansในปี ค.ศ.2005 ก็มีผลทำให้กองทุนดังกล่าวต้องประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างหนัก จนต้องมีการรื้อแผนเพื่อปรับปรุงแผนงานเงื่อนไขต่าง ๆ กันใหม่เช่นกัน
อีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ในกรณีของต่างประเทศนั้น ก็คือการสร้างเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ขึ้นมาในระยะหลัง เพื่อจะใช้ในการกระจายความเสี่ยงดังกล่าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ระดับโลก ที่มีขนาดตลาดที่ใหญ่มากพอ เช่น ในต่างประเทศก็มีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน (Finanicial instruments) ที่เรียกว่า Catastrophe bonds และ Hybrid Bonds เพื่อจะสามารถกระจายความเสี่ยงของการเกิดความเสียหาย จากเหตุการณ์วินาศภัยทางธรรมชาติผ่านกลไกการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะดูดซับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติที่ผ่านมานั้นก็ยังพบข้อจำกัดอุปสรรคต่างๆ ในรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป
โดยสรุปแล้ว ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้เสียหายจำนวนมากสามารถรับภาระความเสียหาย ในเชิงเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของไทยจะต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต และเร่งช่วยกันหาแนวทางการพัฒนาปรับปรุงใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย