ปรับแนวคิดมาตรการ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์
ทุกปีเมื่อถึงช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ความต้องการเดินทางจะเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะการเดินทางทางถนน จึงทำให้โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุนั้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยอุบัติเหตุได้คร่าชีวิตคนหลายร้อยราย และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกหลายพันรายในแต่ละปี แม้ภาครัฐจะมีมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยการกำหนดช่วง 7 วันอันตราย ที่มีความเข้มข้นขึ้นทุกปีก็ตาม
โดยสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ในปี 2551-2556 ลดลงต่อเนื่อง แต่กลับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 และล่าสุดปีที่ผ่านมา มีจำนวนอุบัติเหตุ 3,447 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต 3,656 และ 442 ราย ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.9 พันล้านบาท จึงน่าสังเกตว่าการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนของภาครัฐนั้นมาถูกทางแล้วหรือไม่ และมาตรการที่ผ่านมาสามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
ย้อนสถิติสงกรานต์: ความรุนแรงเพิ่ม สาเหตุหลักคือเมาแล้วขับและความเร็ว
จากสถิติของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในปี 2559 พบว่า ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุ (จำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนอุบัติเหตุ 100 ครั้ง) ในช่วงสงกรานต์อยู่ที่ 12.8 เพิ่มขึ้นจาก 10.8 ในปี 2557 และ 2558 กล่าวคือ อุบัติเหตุทางถนนทุก 100 ครั้ง ในปี 2559 มีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 คน โดยสาเหตุสำคัญในช่วง 7 วันอันตราย มาจากเมาแล้วขับและการใช้ความเร็วเกินกำหนด ซึ่งคิดเป็น 34% และ 33% ของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นยังประกอบไปด้วย พฤติกรรมเสี่ยงอย่างการหลับในและการไม่ใช้หมวกและเข็มขัดนิรภัย รวมถึงอันตรายข้างทางทั้งต้นไม้ ป้าย และเสาไฟ
หากพิจารณาสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละช่วงเวลาของเทศกาล พบว่า การขับขี่เร็ว การตัดหน้ากระชั้นชิด และหลับใน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงการเดินทางไป/กลับต่างจังหวัดหรือช่วงต้นและปลายของ 7 วันอันตราย
ขณะที่ช่วงการฉลองเทศกาล คือ ช่วง 12-14 เมษายน เป็นช่วงที่มีการเกิดอุบัติเหตุมากสุด โดยผู้ใช้รถใช้ถนนมักเดินทางระยะใกล้เพื่อไปเฉลิมฉลอง จึงมีผู้ดื่มหรือเมาแล้วขับจำนวนมาก และกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวมีแนวโน้มไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตในช่วงกลางคืนหรือช่วงเวลา 16.01-20.00 น. มากที่สุด โดยเฉพาะในปี 2559 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมมิดไนท์สงกรานต์ในหลายจังหวัด ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 20.01-24.00 และ 00.01-04.00 น.
ในด้านอื่นๆ รถจักรยานยนต์ยังครองแชมป์ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุด โดยในปี 2559 มีสัดส่วนคิดเป็น 35% สำหรับจำนวนอุบัติเหตุ และ 65% สำหรับการเสียชีวิต รองลงมาคือรถปิคอัพ ที่มีสัดส่วน 29% และ 16% สำหรับจำนวนอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ตามลำดับ โดยถนนของกรมทางหลวงและองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหมู่บ้าน มีจำนวนการเสียชีวิตสูงที่สุดซึ่งคิดเป็น 38% และ 36% ตามลำดับ
ปรับมาตรการต้านอุบัติเหตุสงกรานต์: เน้นจัดการความเสี่ยงให้ครอบคลุม ทำงานต่อเนื่องเชิงระบบ
ในปีที่ผ่านๆ มา มาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนยังไม่ได้ผล นอกจากนี้ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเน้นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางมากกว่าการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนน
ในปี 2560 นี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งมาตรา 44 (ม.44) ในการช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งครอบคลุมเรื่องการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง การเพิ่มความปลอดภัยของรถตู้โดยสารสาธารณะ การลงโทษหากไม่เสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ม.44 อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร หากไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้ง ม.44 ยังขาดมาตรการที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่มีความเสี่ยงมากที่สุด
มาตรการความปลอดภัยทางถนนสำหรับช่วงเทศกาลปีนี้จึงควรเน้นจัดการความเสี่ยงให้ได้อย่างครอบคลุมและเป็นระบบ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุทั้ง 3 ปัจจัย คือ “คน-รถ-ถนน” ปัจจัยด้านคนต้องบังคับใช้กฎหมายที่ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงให้ได้ผลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพฤติกรรมเมาแล้วขับ การขับขี่เร็วเกินกำหนด การใช้รถผิดวิธี และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย
ปัจจัยด้านรถ ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบสภาพรถและอุปกรณ์นิรภัย โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ส่วนปัจจัยด้านถนนที่ส่งผลอย่างมากต่อความรุนแรงของอุบัติเหตุ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องลดจุดเสี่ยงให้น้อยที่สุด กำจัดสิ่งกีดขวางข้างทาง และติดตั้งวัสดุที่ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ รัฐจะต้องประชาสัมพันธ์นโยบายต่างๆ ด้วยข้อเท็จจริงต่อสาธารณะควบคู่กับการดำเนินมาตรการก่อนช่วง 7 วันอันตราย เพื่อให้สาธารณะรับรู้และตระหนักในความสำคัญ พร้อมทั้งควรมีการติดตามและประเมินผลของมาตรการอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม จำนวนอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของอุบัติเหตุทางถนนทั้งปี การดำเนินมาตรการต่างๆ จึงไม่ควรมุ่งเน้นที่ช่วงเทศกาลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรจะแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนของทุกช่วงเวลาอย่างเป็นระบบ โดยการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยทางถนนโดยเฉพาะ ที่มีหน้าที่ที่รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลกลางสำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนน และตั้งหน่วยสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนเชิงลึก เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด
.....................................
ณัชชา โอเจริญ
ณิชมน ทองพัฒน์