มุมมองจาก Grameen Bank แก้ไขหนี้นอกระบบ(จบ)
ความพยายามช่วยเหลือคนยากจนในประเทศไทยดำเนินการมาเป็นเวลานาน นับจาก พ.ศ.2504
ประเทศไทยได้กำหนดให้มีแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่8และ9ได้กำหนดปรัชญาของนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในการเสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนท้องถิ่น โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง มีการจัดตั้งกองทุน 1ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง
สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพและชุมชนเมือง เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้ ต่อมาได้มีการพัฒนาแนวคิดไปใช้กับ “กองทุนเอสเอ็มแอล” ด้วย
รัฐบาลปัจจุบันก็ใช้นโยบายประชารัฐเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยการดึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาร่วมดำเนินการ เป็นการส่งให้ผู้ที่แข็งแรงมีโอกาสช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า ในระยะแรกเป็นการนำ76จังหวัด มาถือหุ้นใหญ่76 %ส่วนอีก24 %เป็นการถือหุ้นของเอกชนรายใหญ่
แนวคิดกองทุนหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคล้ายกับโมเดลของ Grameen Bank เมื่อพิจารณารายละเอียด โดยเฉพาะเงื่อนไขเงินกู้และขั้นตอนการติดตามผล ก็ไม่สอดคล้องกับโมเดลของ Grameen Bank เพราะเน้นแต่การให้กู้ โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกหนี้ในระยะยาว ไม่ช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำเงินกู้ไปขยายกิจการหรือสร้างกิจการใหม่ ไม่ได้ใช้เงินกู้ให้เป็นประโยชน์เพื่อการชำระหนี้ ในที่สุดก็ต้องอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบมาชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้านหลายแห่งประกาศให้ลูกบ้านมารับเงินกู้ไปง่าย ๆ โดยเขียนโครงการที่ไม่น่าเชื่อถือส่งเข้ามา
ลูกหนี้หลายรายคิดว่าเป็นเงินให้เปล่า ไม่จำเป็นต้องใช้คืน มีคนจนไม่ถึงร้อยละ10ที่ได้รับเงินกู้จากกองทุนหมู่บ้าน ส่วนแนวคิดประชารัฐก็ถูกมองว่าเป็นประชารัฐโดยกลุ่มทุน มิใช่ประชารัฐโดยภาคประชาสังคมหรือประชาชนอย่างแท้จริง เป็นประชารัฐฉบับนายทุน ที่ไม่น่าจะตอบสนองความต้องการของคนยากจนได้
ในอดีตนักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้านของประเทศไทยได้ผลิตโมเดล “สถาบันการเงินชุมชน” หลายรูปแบบที่ประสบความสำเร็จใกล้เคียงกับGrameen Bankในแง่ของการบรรลุเป้าหมายทางสังคม ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มาหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชนบทไทย เปิดเผยว่า แทบทุกภาคของประเทศไทยมีการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน ทั้งรูปแบบของสัจจะออมทรัพย์ หรือรูปแบบอื่น ๆ
ในภาควิชาการ อาจารย์จำนงค์ สมประสงค์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ริเริ่มนำโมเดลของGrameen Bankมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532-2534โดยได้ทดลองจัดตั้ง “ธนาคารหมู่บ้าน” ในหมู่บ้าน10แห่ง ใน7จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ภายใต้โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง โดยอาศัยหลักและวิธีการของสหกรณ์ผสมผสานกับหลักการของธนาคารพาณิชย์ สอนให้ชาวบ้านบริหารจัดการธนาคารด้วยตนเอง ทำให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ มีเงินออมเป็นรายเดือน ระบบการบริหารจัดการมีความโปร่งใส มีคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มียกระดับจากธนาคารหมู่บ้านเป็นองค์กรนิติบุคคล
โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมนักพัฒนาหมู่บ้านแห่งประเทศไทย”แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการสานต่อแล้วในภาคประชาชนปราชญ์ชาวบ้านไทยหลายราย อาทิ ครูชุบ ยอดแก้ว และพระสุบินปณีโตประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง “สัจจะออมทรัพย์” ขึ้นในชุมชน โดยใช้หลักแนวคิดเรื่องการทำบุญตามแนวพุทธ มาประยุกต์ใช้
สมัยที่คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานธนาคารกรุงไทย ได้มีการจัดตั้งธนาคารประชาชน โดยรับสมัครพนักงานที่ไม่ถนัดกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกไปคลุกคลีให้คำแนะนำกับชาวบ้าน ในการประกอบธุรกิจ ทั้งแง่ของการบริหารจัดการ การผลิตและการตลาด ในชุมชนต่างจังหวัดหลายแห่ง ประสบความสำเร็จดีมาก ตอนที่ผมเป็นพนักงานสินเชื่อเกษตร ของธนาคารกรุงไทย ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปล่อยสินเชื่อครั้งแรก วงเงิน2,000บาท ให้เกตรกรกร ชื่อลุงรุ่ง ชูแก้ว เพื่อไปซื้ออุปกรณ์รีดนมวัว ผมแวะไปเยี่ยมเยียนบ่อยมาก แนะนำให้เปิดบัญชีออมทรัพย์ เงินที่ได้จากการขายน้ำนมวัวดิบเข้าบัญชีทั้งหมด ลุงรุ่งไม่เคยผิดนัดชำระหนี้
ในสมัยที่ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์โดยมีเงื่อนไขในการเปิดสาขาที่เน้นให้ความสำคัญกับชนบท กำหนดเงื่อนไขให้ปล่อยสินเชื่อให้กับท้องถิ่น แต่ปัจจุบันเงื่อนไขเปลี่ยนไป ธนาคารพาณิชย์มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเปิดสาขาในพื้นที่ใจกลางเมือง เน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคมากกว่าสินเชื่อเพื่อให้การผลิต ให้ความสำคัญกับDigitalและFintechจนลืมคนยากจนที่ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากถ้ายังไม่มีนักธุรกิจที่มีสำนึกทางสังคม (Social Entrepreneur)ที่เห็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในวัฒนธรรมความจน วิถีชีวิตและความต้องการของคนจน มีความตั้งใจที่จะช่วยคนจน ก็ไม่วันที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้นอกระบบได้
หลักการข้อแรกของ Grameen Bank คือการออกไปหาคนยากจน คลุกคลีอยู่กับพวกเขา สอนให้เขาจับปลาเป็น สอนให้คนจนมีวินัยในการใช้เงินและบริหารเงิน เป็นหลักการในการแก้ไขหนี้นอกระบบที่ดีที่สุดครับ