ธุรกิจยุค 4.0 ปรับตัวอย่างไร
ธุรกิจในบ้านเรามีทั้งกลุ่มที่เดินหน้าไปสู่ยุค 4.0 ด้วยความสมัครใจ และกลุ่มที่ถูกลากไป เพราะยังไม่พร้อมหรือไม่คิดจะปรับตัว
การปรับตัวซึ่งมีการพูดถึงกันมากคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้การเชื่อมโยงกับลูกค้า ทำธุรกรรม รวมถึงการบริหารและวางแผนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องสำคัญไม่แพ้กันแต่มีการพูดถึงกันน้อยกว่า นั่นคือ การปรับตัวแบบไหนที่ช่วยให้องค์กรให้สามารถเข้าสู่ยุค 4.0 ได้
ในเรื่องนี้ มีบทเรียนสำคัญ 5 เรื่องซึ่งธุรกิจในบ้านเราสามารถเรียนรู้ได้จากธุรกิจในต่างประเทศที่ปรับตัวได้สำเร็จ
เรื่องแรก คือ การปรับขนาดขององค์กรให้เหมาะสม แนวคิดในปัจจุบัน เมื่อธุรกิจประสบกับปัญหาก็จะลดขนาดขององค์กร เพื่อลดต้นทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเพราะเป็นหนทางกู้สถานการณ์ทางการเงินให้กลับมาดีขึ้นได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การลดขนาดมีข้อควรระวัง ทั้งในเรื่องขวัญกำลังใจ ความสามัคคีในองค์กร และการสูญเสียคนเก่ง การเปลี่ยนแปลงที่ดีควรเอาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเป็นตัวตั้ง แล้วปรับตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจรวมถึงการลดขนาดขององค์กรด้วย
นอกจากนี้แล้ว อีกโจทย์ที่ต้องคิดต่อเนื่องกันไปเมื่อมีการปรับขนาดก็คือ การเปลี่ยนแปลงองค์กรในรอบนี้จะเป็นฐานในการเปลี่ยนแปลงองค์กรในอนาคตได้อย่างไร
เรื่องที่สอง คือ แผนการทำงานตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ องค์กรในปัจจุบันมักจะมีเส้นทางเดินเพียงทางเดียวเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ ซึ่งอาจเหมาะกับยุคที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย
องค์กรยุค 4.0 มีทางเลือกในการทำตามวิสัยทัศน์ได้มากกว่า 1 ทางเลือก และสามารถทางเลือกเหล่านั้นมาใช้พร้อมกัน เพื่อย่นระยะเวลาในการไปให้ถึงเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการกระจายความเสี่ยงในการทำงาน เพราะถึงแม้บางทางเลือกจะไม่เดินหน้าเร็วเท่าที่คาด ก็ยังมีทางเลือกอื่นเข้ามาเสริม
เรื่องที่สาม คือ การรวมศูนย์ทรัพยากรและคนที่มีความสำคัญ องค์กรในปัจจุบันมีการกำหนดตำแหน่งหน้าที่ไว้ชัดเจนตามโครงสร้างที่แบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขก็จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับเรื่องไป บางครั้งคนรับมือกับสถานการณ์อาจไม่ใช่คนเก่งที่สุด ผลลัพธ์ออกมาจึงไม่ได้เป็นไปตามต้องการ
องค์กรยุค 4.0 รู้ดีกว่า คนและทรัพยากรบางอย่างควรจัดไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อความสะดวกในการกระจายลงไปทำงานในส่วนต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะหากเป็นสถานการณ์ใหม่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การจะให้ส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว ก็อาจดึงเอาประสบการณ์ในอดีตมาใช้ บางครั้งไม่ได้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป การมีทีมที่มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนตามจริง มีความคิดที่เปิดกว้างในการรับมือกับสถานการณ์จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
เรื่องที่สี่ คือ วิธีการมองโอกาส องค์กรปัจจุบันเลือกเฉพาะโอกาสที่สอดคล้องกับสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำ ทำให้มองผ่านโอกาสบางอย่าง ทั้งที่โอกาสเหล่านั้นจะเป็นประตูสู่ความสำเร็จในอนาคต มีตัวอย่างของธุรกิจใหญ่ระดับโลกมากมายที่สุดท้ายก็เหลือแต่ชื่อเพราะมองข้ามสิ่งที่ “ไม่ใช่” ในวันนี้ ซึ่งบางโอกาสอาจกลายเป็นสิ่งที่ “ใช่” ในวันหน้า
องค์กรยุค 4.0 มีวิธีการมองโอกาสแตกต่างกัน แทนที่จะเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง องค์กรเหล่านี้เอาโอกาสเป็นศูนย์กลางแล้วปรับการทำงานขององค์กรให้สอดคล้องกับโอกาสเหล่านั้น แน่นอนว่า การทำแบบนี้หมายถึงการออกแบบโครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว และต้องสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่มองการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ
เรื่องสุดท้าย คือ บทบาทของผู้นำ ผู้นำในองค์กรปัจจุบันมักจะเน้นความถูกต้องแม่นยำในการทำงาน ทุกอย่างต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม หาทางใช้ประโยชน์จากจุดแข็งขององค์กรให้สูงที่สุด ทำให้คนเก่งถูกใช้ในการแก้ปัญหาขององค์กร จึงไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ทั้งในด้านการผลิต การบริหาร และด้านการตลาดได้
ผู้นำขององค์กรยุค 4.0 เข้าใจดีว่า การนำองค์กรไปข้างหน้าต้องอาศัยการทดลอง สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทำให้ดีกว่าเดิม เมื่อมองโลกแบบนี้ แนวทางการบริหารคือการให้คนเก่งที่สุดเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้ามากกว่าจะมาคอยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สภาพแวดล้อมที่คนเก่งได้ลองผิดลองถูกแบบนี้ทำให้พวกเขาเก่งขึ้นกว่าเดิม เป็นการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้คนในองค์กรทั้งหมดพร้อมจะคิดไปข้างหน้า
จะเห็นว่าการปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรยุค 4.0 ไม่เกี่ยวกับการใช้เงินหรือเทคโนโลยีเสมอไป ทุกข้อที่กล่าวมาเป็นเรื่องของการปรับแนวคิดและทัศนคติ เรื่องเหล่านี้เป็นธุรกิจเล็กหรือธุรกิจใหญ่ก็ทำได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ เรื่องแบบนี้ใครทำก่อนย่อมได้เปรียบ ใครทำช้าจะมาโอดครวญทีหลังว่าปรับตัวไม่ทันคงไม่มีใครได้ยิน เพราะคนอื่นเขาไปข้างหน้ากันหมดแล้ว