ลดดอกเบี้ยรายย่อย บทพิสูจน์ 'แบงก์ชาติ'
เรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก หรือแม้แต่ดอกเบี้ยรายใหญ่กับรายย่อย
ของธนาคารพาณิชย์ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาช้านาน และยังไม่สามารถหาจุดลงตัวที่สมดุลได้สักที แม้กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้อ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เขียนสะท้อนความเห็นที่มีต่อเรื่องดังกล่าว ผ่านบทความชื่อ “ธปท.ปล่อยให้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ลงตีพิมพ์ในหน้าทัศนะเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2560
บังเอิญว่าเมื่อวันก่อน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หยิบเรื่องนี้มาพูดบนเวทีเปิดงานมหกรรมการเงินครั้งที่ 17 โดยระบุว่า ต้องการเห็นสถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยให้แก่ลูกค้ารายย่อยลง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยกับลูกค้ากลุ่มนี้ในอัตราที่สูงกว่าลูกค้ารายใหญ่มาก
นายอภิศักดิ์ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้ารายย่อยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7-8% เทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้ารายใหญ่ที่ 1-2% เท่ากับว่า มีส่วนต่างสูงถึง 5-6%
แม้ธนาคารพาณิชย์จะบอกว่า การคิดดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้า แต่ นายอภิศักดิ์ ตั้งคำถามว่า ความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัทขนาดเล็ก มีส่วนต่างถึงขนาดที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยต่างกัน 5-6% เลยหรือ เขาจึงฝากให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ กลับมาคิดในเรื่องนี้ดู
นอกจากนี้ นายอภิศักดิ์ ย้ำด้วยว่า การคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงถือว่า “ทำได้” แต่ไม่ใช่คิดค่าความเสี่ยงที่สูง หรือที่เรียกว่า “Over Price” แบบนี้ พร้อมกับบอกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้ถือเป็นเรื่องกลไกตลาด เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินสามารถคิดเองได้ เขาเชื่อว่า การลดดอกเบี้ยให้รายย่อย ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมในสังคมลงได้ด้วย
เราเห็นว่าน้อยครั้งที่ “รัฐมนตรีคลัง” จะออกมาแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว และที่ไม่ธรรมดาไม่กว่านั้น คือ รัฐมนตรีคลังคนนี้ อดีตเคยเป็นถึง “นายแบงก์ใหญ่” ซึ่งเข้าใจระบบการเงินการธนาคารเป็นอย่างดี การแสดงความเห็นของ นายอภิศักดิ์ ในครั้งนี้ จึงตอกย้ำว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ มีความเป็นไปได้ หากต้องการจะทำ
แม้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์บางราย จะให้ความเห็นว่า ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากของไทยโดยเฉลี่ยไม่ได้ห่างกันมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ทั้งยังมีทิศทางที่ลดลงมาต่อเนื่อง แต่ถ้าฟังความเห็นของ “นายอภิศักดิ์” สะท้อนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ธนาคารพาณิชย์ ไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้ารายใหญ่มาก จึงดึงให้ค่าเฉลี่ยส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายของแบงก์ลดลง คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ จึงมีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น
เราเห็นด้วยหาก ธปท. จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาถกเถียงหาจุดที่ลงตัวร่วมกับธนาคารพาณิชย์อย่างจริงๆ จังๆ เข้าใจว่าส่วนหนึ่งต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลก็มีความสำคัญไม่น้อย และไหนๆ ถ้าจะมีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาดูแลแล้ว เราก็อยากเห็นการลดดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนอื่นๆ ลง ทั้งเงินกู้ส่วนบุคคลและเงินกู้บัตรเครดิต โดยทำควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน ไม่ใช้จ่ายจนเกินตัว ใช้เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้น