ความย้อนแย้งของ “American Dream“
การก่อร่างสร้างตัวของผู้คนในประเทศสหรัฐได้สร้างกรอบความคิดพื้นฐานอธิบายลักษณเฉพาะของสังคมว่า
เป็นสังคมที่มีเปิดโอกาสให้ผู้คนบรรลุ “ความใฝ่ฝัน/ความหวัง” ได้อย่างเต็มเปี่ยม เราจึงเห็นถึงปฏิบัติการณ์ต่างๆของ American Dream มาอย่างต่อเนื่อง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ทำให้โอกาสในการเลื่อนชนชั้นเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิมมาก จึงทำให้ก่อเกิดพลังของจินตนาการ “American Dream"เน้นไปที่การบรรลุความสำเร็จในหน้าที่การงานและ “สร้างเนื้อ/สร้างตัว” ด้วยการทำงานหนักเพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นชนชั้นกลางระดับสูงขึ้น ภาพยนต์เรื่อง The graduate (1967) ได้สะท้อนจินตนาการของคนอเมริกันที่มีต่อสังคมตนเองอย่างชัดเจน
แม้ว่าในทศวรรษ 1960 การเลื่อนชนชั้นจะไม่รวดเร็วอย่างที่ผู้คนคาดหวัง แต่ทางเลือกของชีวิตคนธรรมดาที่มาจากครอบครัวคนงานก็เปิดกว้างในหลายช่องทาง ที่เด่นชัด ได้แก่ การเลือกเป็นทหารเข้าสู่สงครามเวียดนาม หนังสือที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Christian G. Appy เรื่อง “Working-class War : American Combat Soldiers and Vietnam” ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลูกหลานของชนชั้นแรงงานที่เป็นคนงานทั่วไปได้เลือกทางเดินชีวิตในการเข้าสู่สงครามเพื่อที่จะแสวงหาความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
แม้ว่าข้อมูลจำนวนมากในหนังสือเล่มนี้จะสะท้อนถึงความเจ็บปวดของทหารที่มาจากครอบครัวคนงาน คำถามที่พวกเขาระบายออกมา เช่น “Where were the sons of all the big shots who supported the war? Not in my platoon. Our guys' people were workers. . . . If the war was so important, why didn't our leaders put everyone's son in there, why only us?” แต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นการสัมภาษณ์ภายหลังจากที่ทหารผ่านศึกทั้งหมดได้รับผลจากการผ่านสงครามที่โหดร้ายไปแล้วช่วงหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาตั้งแต่ต้น อันได้แก่ การตัดสินใจเข้าร่วมเป็นทหาร ก็จะพบว่าเป็นการตัดสินใจที่มุ่งใช้การเป็นทหารและการผ่านสงครามเป็นฐานที่จะเดินหน้าไปสู่ความก้าวหน้าในชีวิต
หลังสงครามเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐได้ตอบแทนแก่ทหารผ่านศึกด้วยการให้ทุนการศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะให้เป็นทางเดินสู่ชีวิตที่ดีกว่า แต่ความเจ็บปวดของสงครามที่ฝังอยู่ในจิตใจทำให้จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงขึ้นนั้นมีไม่มากอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง ขณะเดียวกัน ทหารผ่านศึกกลับถูกทำร้ายจิตใจมากขึ้นจากขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามซึ่งเป็นลูกหลานชนชั้นกลางที่ไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วมการทำสงครามเวียดนาม
หลังสงครามเวียดนาม คนจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกว่าถูกหักหลังจากจินตนาการ “American Dream” ที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นกรอบความคิดว่าสังคมอเมริกาเปิดโอกาสให้คนทุกคนมีโอกาสในการทำชีวิตให้ดีขึ้นเพราะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและเสมอภาค
แต่อย่างไรก็ตาม การถักสานความหมายของ “ American Dream” ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อโลกให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้สหรัฐกลายเป็น “ดินแดนแห่งความหวัง” ของผู้คนทั่วโลกที่จะเดินทางไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าในอเมริกา ซึ่งก็เป็นจริงในยามที่สังคมเศรษฐกิจของอเมริกาเติบโตและขยายตัว โอกาสของคนทุกคนก็เปิดกว้างและขยับขยายขึ้นสูงขึ้น การขยายตัวของสังคมบริโภคนิยมได้ทำให้ “American Dream” ผูกพันกับการบริโภคที่ลึกซึ้งมากขึ้นตามไปด้วย วิถีชีวิตของคนที่ไต่ตามความฝันคนอเมริกันจึงเน้นที่การบริโภคในทุกมิติ
แต่ในทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ความเสื่อมทรุดของระบบเศษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะอุตสาหกรรมพื้นฐานของสหรัฐไม่สามารถอยู่ได้ จึงทำให้การว่างงานในกลุ่มแรงงานเดิมลดลงอย่างรวดเร็วและมากมาย ขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจภาคการเงิน ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมใหม่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทวีสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กลุ่มคนงานผิวขาวถูกผลักให้ตกอยู่ในสถานะของคน underclass มากขึ้นมาก หนังสือขายดีของนักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง Nancy Isenberg เรื่อง “ White Trash : The 400-year Untold History of Class in America ได้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของการซ่อนปัญหาเรื่องชนชั้นเอาไว้และมันได้ปะทุขึ้นมาในยามที่เศรษฐกิจเสื่อมทรุด
คนตกงานและไม่สามารถจะเดินตามกระแสการบริโภคยิ่งรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น
การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆในสังคมอเมริกาในวันนี้ จึงเป็นการต่อสู่เพื่อความอยู่รอดของกลุ่มตนเองภายใต้กรอบคิดการนิยาม “American Dream" ที่แตกต่างกัน กลุ่มขวาสุดกู่ซึ่งรวมเอากลุ่มผิวขาวที่เหนือกว่า กลุ่มนาซีใหม่ กำลังอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของการเดินตาม “ความฝัน” ที่ตนเองในฐานะ “คนผิวขาวที่เป็นเจ้าของประเทศ” ควรจะได้รับ การต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นถูกทำให้อยู่ภายใต้กรอบคิด“คลั่งชาติพันธ์” (Racism) เพื่อจะทำให้เกิด “ศัตรู” ที่ชัดเจนขึ้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านกลุ่มขาวสุดกู่ก็สร้างการเคลื่อนไหวภายใต้ความหมาย “American Dream" อีกชุดหนึ่ง ที่เน้นว่าสังคมอเมริกันมีความเคารพความหลากหลาย และเป็นสังคมที่ไม่คลั่งชาติพันธ์ รวมไปถึงการปฏิเสธรากฐานของการกดขี่มนุษย์ลักษณะเดิมทั้งหมด
ความย้อนแย้งของ “American Dream” เช่นนี้ จึงนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้น เพราะลึกลงไปนั้นเป็น “ความใฝ่ฝัน/ความหวัง” ที่แตกต่างกันบนความแหลมคมของการต่อสู้ทางชนชั้น ไม่ใช่ความฝันโดยรวมของคนอเมริกันอย่างที่สร้างกันขึ้นมา