ความขัดแย้งทางวัฒธรรมใน “พหุวัฒนธรรมนิยม”
ความคิดเรื่อง “พหุวัฒนธรรม” ที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในโลกตะวันตกจนกลายเป็นเสมือนหลักการทางปรัชญาการเมืองของหลายประเทศนับจากศวรรษ 70 เป็นต้นมา
เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนจากประเทศไปอีกประเทศหนึ่งอย่างกว้างขวาง ทำให้แต่ละประเทศได้พบกับความแตกต่างของผู้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมกันมากขึ้น
ขณะเดียวกัน จำนวนและความหนาแน่นในแต่ละพื้นที่ของคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่มีมากขึ้นในแต่ละประเทศก็ได้ทำให้การรวมกลุ่มก้อนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น
ความแตกต่างของกลุ่มคนในประเทศหนึ่งๆ จึงปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
กระบวนการผสมกลมกลืน (Assimilation )ของแต่ละสังคมที่เคยทำงานได้ในระดับหนึ่ง ก็เริ่มไม่สามารถที่จะกลมกลืนได้อีกต่อไป เพราะการผสมกลมกลืนมีความหมายซ้อนของการบังคับให้วัฒนธรรมของกลุ่มย่อยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมใหญ่ของชาตินั้นซ่อนเร้นอยู่
แต่ความหนาแน่นและเข้มข้นของกลุ่มคนต่างวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ที่ทวีขึ้นได้ ทำให้ไม่สามารถที่จะยอมอยู่ภายใต้การผสมกลมกลืนแบบเดิมอีกต่อไป
การต่อรองกับรัฐจากฐานของกลุ่มชาติพันธ์ุและวัฒนธรรมจึงค่อยๆ ขยับเคลื่อนขึ้นเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้น จนกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การเมืองเรื่อง ”อัตลักษณ์” ได้กลายมาเป็นประเด็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องประสบและต้องแสวงหาหนทางในการจัดการให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นมากที่สุด
ความก้าวหน้ามากที่สุดของการสร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมในแต่ละประเทศและสังคม ได้แก่ การทำให้สังคมตระหนักถึงความเป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” ที่มุ่งหมายให้แต่ละกลุ่มในสังคมได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความหมายที่เท่าเทียมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมอันจะทำไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกัน
การนำเสนอความคิดเรื่องการเมืองของการตระหนักและยอมรับ (The Politics of Recognition) ซึ่งเป็นพื้นฐานของความคิดปรัชญาการเมืองในเรื่อง “สังคมพหุวัฒนธรรม” (Multiculturalism) จึงได้รับการกล่าวขวัญและยึดถือเป็นหลักการทางการเมืองในระดับกว้างขวาง
กล่าวได้ว่าความคิดในเรื่อง “สังคมพหุวัฒนธรรม” เป็นการพัฒนาอีกระดับหนึ่งของความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นความพยายามที่จะก้าวข้ามเสรีนิยมแบบเดิม เพื่อตอบสนองแก่ความหลากหลายของความแตกต่างของผู้คนในสังคมเสรีนิยม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจว่า แม้ในรัฐที่ประกาศตนว่าเป็นเสรีนิยม ก็ไม่ได้ตระหนักยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างจริงจัง
ความตึงเครียดระหว่างการกระทำที่เป็นทางการของกลไกอำนาจรัฐกับการดำรงอยู่จริงอย่างไม่เป็นทางการของคนกลุ่มย่อยในสังคมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างแหลมคม เพราะความคิดที่นำเสนอในเรื่องนี้ไม่ได้ตระหนักถึงพื้นฐานของการกำหนดความหมายของวัฒนธรรมคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำกับสังคมนั้นๆ อยู่อย่างเต็มเปี่ยม (ดูคำวิจารณ์ในหนังสือของ Charles Tayler โดยเฉพาะของ Michael Walzer )
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการพังทลายของระบอบการปกครองสังคมนิยมของโซเวียตในทศวรรษ 90 และเหตุการณ์ 911 ในสหรัฐ ได้ท้าทายความคิดในเรื่อง “สังคมพหุวัฒนธรรม” อย่างรุนแรง เพราะได้นำมาซึ่งการสถาปนาระบอบการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา คือ การเมืองของความหวาดกลัวและความรุนแรง (Politics of Fear and Violence) ผู้นำทางการเมืองฝ่ายขวาของกลุ่มประเทศตะวันจำนวนไม่น้อยได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจผ่านการเลือกตั้งของประชาชนด้วยเงื่อนไขของความหวาดกลัวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
การเมืองของความหวาดกลัวภายใต้รูปแบบความคิดเสรีนิยมและการมองเห็นความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมที่ชัดเจนขึ้นได้ขยายตัวไปในทุกมิติของชีวิตผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความกลัวผู้อพยพต่างชาติ ความกลัวอาชญากรรม (ที่ผูกไว้กับคนต่างวัฒนธรรม) ความกลัวการคุกคามทางเพศ รวมไปถึงความกลัวต่อการขยายตัวของเพศที่สามสี่ห้า ( LGBTQ ) ซึ่งความหวาดกลัวทุกมิติเช่นนี้ได้ทำให้คนพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันมากขึ้น
ชีเช็ค ได้วิจารณ์เรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อว่า “ลัทธิพหุวัฒนธรรมเสรีนิยมได้กลายเป็นหน้ากากใบหน้ามนุษย์ให้แก่ลัทธิความป่าเถื่อนแบบเก่า” ( Slavoj Zizek, Liberal multiculturalism masks an old barbarism with a human face )
กระบวนการเคลื่อนเข้าสู่ระบอบการเมืองของความหวาดกลัวและความรุนแรงนี้ ด้านหนึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการสร้างกรอบความคิด “สังคมพหุวัฒนธรรม”
แม้ว่าเป็นผลโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำเข้าใจ เพื่อที่จะแสวงหาแนวทางก้าวให้พ้นจากผลด้านลบนี้ กล่าวคือ การสร้างหรือการทำให้เกิดการยอมรับ “สังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่างๆ โดยที่ทุกกลุ่มวัฒนธรรมในสังคมก็ให้การยอมรับการดำรงอยู่ (exist) ของกลุ่มวัฒนธรรม
แต่ขณะเดียวกัน ผลของการสร้างการยอมรับใน “พหุวัฒนธรรม” นี้ ความเข้มแข็งที่ถูกสร้างให้เพิ่มขึ้นของแต่ละกลุ่มได้ทำให้เกิดการสร้างวงขอบที่แตกต่างเด่นชัดและข้ามกันไม่ได้ให้แก่ความเฉพาะเจาะจง (Uniqueness) ของกลุ่มวัฒนธรรมนั้น (perpetuating that marginalization through affirmations of difference) พร้อมกันนั้น กลุ่มอื่นๆ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปเชื่อมต่อได้อย่างเดิมอีกต่อไป
กล่าวได้ว่า แม้การสร้าง “พหุวัฒนธรรม” จะเป็นความก้าวหน้าของระบอบเสรีนิยม แต่ในความเป็นเสรีนิยมนี้เองกลับส่งผลไปในอีกด้านหนึ่งที่ทำให้แต่ละกลุ่มกลับไม่สามารถที่จะ “รู้จัก” กันอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงการยอมรับว่าอีกกลุ่มหนึ่งมีอยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เปราะบางมากขึ้นเมื่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้ถูกทำให้เป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างวัฒนธรรม
การแปรเปลี่ยน “พหุวัฒนธรรม” ให้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งหรือการจุดชนวนทางการเมือง เป็นการเปลี่ยนจากกระบวนการทำวัฒนธรรมให้เป็นการเมือง (politicization of culture) มาสู่การทำให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องการเมืองหรือ “กระบวนการทำการเมืองเป็นเรื่องวัฒนธรรม” culturalization of politics" ซึ่งชีเช็ค (zizek) ได้กล่าวเน้นไว้ว่าผู้ทำให้ให้เกิดกระบวนการนี้อย่างสำคัญ คือ แซมมวล ฮันติงตัน
ในงานเขียนเรื่อง The clash of civilizations ซึ่งได้จัดวางความขัดแย้งหลักทางการเมืองของโลกในปัจจุบันอยู่บนฐานของอารยธรรม และความคิดนี้ได้แพร่ขยายไปได้อย่างง่ายดายและกว้างขวางอันเนื่องมาจากผลด้านลบของการทำให้เป็น “สังคมพหุวัฒนธรรม” นั่นเอง
ดังนั้น การจะคิดถึงการสร้าง “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่จะนำมามาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติจึงจ้องการการมองไปข้างหน้าให้กว้างขวางมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เกิดขึ้นมาลดทอนความหมายที่ควรจะเป็นของสังคม พร้อมกันนั้นก็ต้องตระหนักว่าการหยิบยืมกรอบความคิดหลักใดมาใช้ในเนื้อของสังคมที่ไม่เหมือนกันก็ยิ่งจะต้องระมัดระวังความผิดพลาดอันเกิดการการใช้กรอบความคิดใดๆ อย่างผิดฝาผิดตัวและก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก
ความทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เขียนกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยภาคใต้และอาจารย์หลายท่านที่สำนึกเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ ซึ่งจะรวบรวมงานพิมพ์เผยแพร่งานทั้งหมอเป็นหนังสือเล่มในอีกไม่นาน ผู้เขียนขออนุญาตหยิบบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อที่หากท่านผู้อ่านสนใจจะได้ตามอ่านฉบับรวมเล่มครับ