ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล
ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน
ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) นับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์การลงทุนทางเลือกใหม่ในการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ในปี 2017 สกุลเงินดิจิตอลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดรวมของเงินสกุลดิจิตอลเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากมูลค่าน้อยกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือน ม.ค. 2017 สู่ระดับประมาณ 500 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ในช่วงสิ้นปี 2017
สกุลเงินดิจิตอลคืออะไร?
สกุลเงินดิจิตอลถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2009 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ชำระเงินโดยไม่มีการเปิดเผยตัวตน และ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน สกุลเงินดิจิตอลถูกดำเนินการผ่าน Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ที่รองรับการชำระเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง ทั้งนี้ มูลค่าของสกุลเงินดิจิตอลถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทาน (Demand-Supply) ของกลุ่มเครือข่าย (Network) โดยการกระจายของ Crypto Currency จะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดิจิตอล ขึ้นอยู่กับความต้องการของคนอย่างแท้จริง ไม่ถูกผลกระทบจากนโยบายของธนาคารกลางหรือขึ้นอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง เนื่องจาก Supply ของแต่ละสกุลนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งถูกกำหนดตั้งแต่ตอนเริ่มต้น โดยยิ่งจำนวนสกุลเงินดิจิตอลนั้นๆ มีในระบบมากขึ้น ค่าความยากในการหาสกุลเงินดิจิตอลนั้นๆ (difficulty) ก็จะยิ่งสูงขึ้น ทำให้มูลค่าของสกุลเงินดิจิตอลนั้นๆ เป็นไปตามกลไกตลาด นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่าสกุลเงินดิจิตอลนั้นจะเป็นสกุลเงินในอนาคต อย่างไรก็ตาม การสร้างขึ้นมาของสกุลเงินดิจิตอล ทำให้ประเทศมหาอำนาจเฝ้าจับตาเพราะอาจทำให้เงินกระดาษหมดมูลค่าไป
สกุลเงินดิจิตอลในตลาดมีหลากหลายสกุล แต่สกุลเงินดิจิตอลที่เป็นที่นิยมและมีการซื้อขายกันค่อนข้างมากได้แก่ Bitcoin Ethereum Ripple และ Litecoin เป็นต้น ด้วยข้อจำกัดด้านอุปทาน (Supply) ของสกุลเงินดิจิตอล ส่งผลให้สกุลเงินดิจิตอล เช่น Bitcoin มีส่วนแบ่งการตลาดสกุลเงินดิจิตอลมากที่สุดในปี 2017 และมีแนวโน้มที่จะครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดต่อเนื่องในปี 2018 เช่นกัน
มุมมองของสกุลเงินดิจิตอลในปี 2018
แม้ว่ามูลค่าของสกุลเงินดิจิตอลจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีปัจจัยที่นักลงทุนต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เช่น
- กฎระเบียบของแต่ละประเทศเกี่ยวกับการควบคุมความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอล ซึ่งอาจเป็นความยากลำบากในการควบคุมความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ในสกุลเงินดิจิตอล
- ระบบที่จะรองรับการโอนย้ายของสกุลเงินดิจิตอล เช่น ผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ซึ่งจะไม่เหมือนกับระบบของสกุลเงินทั่วไปที่เรียกว่า Fiat currency ซึ่งถูกสร้างขึ้นและถูกกำหนดมูลค่าโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ
- ปัจจุบันสกุลเงินดิจิตอลยังไม่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งหากหน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาควบคุมสกุลเงินดิจิตอลอย่างเป็นทางการ อาจส่งผลให้ความร้อนแรงของสกุลเงินดิจิตอลลดลง
- การแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอลที่ไม่เป็นที่นิยมอาจสูญเสียมูลค่าเมื่อนักลงทุนมีความต้องการนำเงินสกุลดังกล่าวไปทำธุรกรรมซึ่งจะต้องทำการแปลงสกุลเงินดิจิตอลดังกล่าว เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Bitcoin, Ethereum
ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจเห็นรัฐบาลหลายประเทศได้ออกมาตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องสกุลเงินดิจิตอล เพื่อหามาตรการในการสกัดกั้น หรือควบคุมการซื้อขายในสกุลเงินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงิน ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อจำกัดในการควบคุม และตรวจสอบ เห็นได้จากการที่ประเทศจีนที่ได้ประกาศว่า เตรียมสั่งห้ามการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอลต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางซื้อขาย หรือเว็บไซต์เทรดต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนใดๆ จะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย ก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ หน่วยงานต่างๆ ได้หาทางควบคุมการซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้น คือ การระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิตอล (Initial Coin Offering: ICO) ที่กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrencies) ประกอบด้วย 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงการคลัง ที่ทั้ง 4 หน่วยงานนี้จะต้องมีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดระดับการเข้ากำกับดูแลการระดมทุนผ่าน ICO ถ้าหากมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้
ดิฉันเห็นว่า การระดมทุนเงินดิจิตอลถือเป็นช่องทางการระดมทุนประเภทใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่แสวงหาโอกาสจากการลงทุนในส่วนนี้ ซึ่งดิฉันจะติดตามคืบหน้าเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอลมาให้ผู้อ่านอย่างใกล้ชิดต่อไปค่ะ