ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์... อย่ารอรัฐ...ทุกฝ่ายร่วมมือ***
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นต้นน้ำของวงการผลิตอาหารจากภาคปศุสัตว์ เป็นฐานรากที่สำคัญให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นครัวของโลก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาของเกษตรกรผู้เพาะปลูกที่สุดคลาสสิคแก้กันไม่ตก และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงปัญหาบุกรุกป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยบนเวทีการค้าโลก
ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่เกษตรกรยังอยู่กับปัญหาถูกกดราคารับซื้อ เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นวนเวียนซ้ำทุกปี ด้วยสาเหตุผลผลิตต่อไร่ต่ำ ไม่มีคุณภาพ เกษตรกรต้องระดมการใช้ปุ๋ยและสารเคมี ต้นทุนสูง แต่รายได้น้อย นำไปสู่การหาหนทางเพิ่มผลผลิตโดยการขยายพื้นที่ปลูก หนักเข้าจนต้องบุกรุกป่า เพื่อเพิ่มผลผลิต ให้ได้รายได้เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตที่ปลูกบนพื้นที่ลาดชันก็ไม่ได้ดีมาก ยังต้องผจญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องทำให้นานาประเทศไม่ยอมรับสินค้าปศุสัตว์ของไทย สร้างความเสียหายต่อตลอดห่วงโซ่การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ยิ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดจากวังวนของวัฏจักรความยากจนได้
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวในงานเผยแพร่ผลการศึกษาต้นตอความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เกษตรกรไทยในปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น นโยบายการค้าเสรีของโลก และกระแสของผู้บริโภคที่คำนึงถึงความยั่งยืน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ของไก่เนื้อ หมู ไก่ไข่ จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มหรือลดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การอุดหนุนราคาสินค้า หรือมาตรการกำหนดโควต้าการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อให้พยุงราคารับซื้อข้าวโพดในประเทศให้อยู่ในระดับสูง หากแต่ไปบิดเบือนจากกลไกการตลาดที่อ้างอิงดีมานด์และซัพพลายที่ควรจะเป็น และที่สำคัญ เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ของมาตรการต่างๆ จริงหรือไม่ เพราะยังเห็นเกษตรกรมีฐานะยากจน มีหนี้สิน และไม่สามารถแก้ปัญหาลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าได้อย่างเด็ดขาด
นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ จึงเสนอรัฐบาลควรยกเลิกมาตรการที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรได้ตรงจุด ทั้งการอุดหนุนราคา หรือ กำหนดโควต้านำเข้าข้าวสาลี แต่ควรส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตรงไหนปลูกไม่ได้ต้องไม่ฝืน และพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรควบคู่กัน เน้นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสำเร็จที่ยั่งยืน และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม การช่วยเหลือต้องทำให้ครบวงจร ยกตัวอย่างโครงการที่ภาคเอกชนอย่าง บริษัท บางกอกโปรดิ้วส จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมแก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยการประกาศนโยบายรับซื้อข้าวโพดจากแหล่งที่มาตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีโฉนดถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2559 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดในพื้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย และลดการบุกรุกพื้นที่ป่า
นับตั้งแต่การเริ่มโครงการฯ เมื่อปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6,514 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 172,490 ไร่ ใน 11 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี เลย ขอนแก่น นครราชสีมา โดยเฉพาะ ที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เกษตรกรทั้งตำบล 451 ราย มาเข้าร่วมโครงการฯ ผลผลิตเพิ่มและต้นทุนลดลง ช่วยให้เกษตรกรมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาทต่อไร่ จากผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เห็นว่า ความรู้ –เทคโนโลยี - การมีตลาดรับซื้อ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และไม่ส่งต่อปัญหาให้ภาคปศุสัตว์ที่ต้องนั่งแบกรับต้นทุนที่สูงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูง ไม่สะท้อนความเป็นจริง
เมื่อทุกฝ่ายร่วมลงมือทะลายวัฎจักรความยากจนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบครบวงจรแล้ว เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องรอมาตรการอุดหนุนราคาจากรัฐมาช่วยทุกปี ไม่เพียงทำให้เกษตรกรไทยเราอ่อนแอลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคการผลิตอาหารของไทยทั้งมิติของต้นทุนการผลิต คุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำความมั่นคงและยั่งยืนสู่ประเทศและเกษตรกรของไทย
โดย... ธรรมนูญ เอี่ยมขาวช่วง
*** ชื่อเต็มเรื่อง :ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์...อย่ามัวรอรัฐ...ทุกฝ่ายร่วมมือคือทางออก