กฎหมายและสถานะของธุรกิจ Airbnb ในประเทศญี่ปุ่นและไทย

กฎหมายและสถานะของธุรกิจ Airbnb ในประเทศญี่ปุ่นและไทย

ธุรกิจ Airbnb เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มสำหรับการเช่าที่พักระยะสั้นผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุด และได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน

ในปีที่ผ่านมา ที่พักของ Airbnb มีมากกว่า 4 ล้านแห่งใน 191 ประเทศ และมีผู้เข้าพักกว่า 160 ล้านคนทั่วโลกอย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับสถานะของธุรกิจดังกล่าวในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชีย ซึ่งส่งผลให้ Airbnb ถูกมองว่าเป็นธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจผิดกฎหมาย

ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุที่มีนโยบายผ่อนปรนวีซ่าจึงทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมากและส่งผลให้ธุรกิจ Airbnb ในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งญี่ปุ่นยังเป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชียที่มีการบัญญัติกฎหมายรองรับธุรกิจ Airbnb กล่าวคือ The Minpaku home sharing law ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง ผู้ให้เช่าถูกจำกัดให้เปิดที่พักให้เช่าได้ 180 วันต่อปี ซึ่งแต่เดิมที่ไม่มีการจำกัดจำนวนวันที่เปิดให้ผู้เช่าเข้าพัก ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของผู้ให้เช่า แต่ในทางตรงกันข้ามถือเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม อีกทั้งช่วยคุ้มครองคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนจากปัญหานักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอาศัยในระยะสั้น เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาการส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน ปัญหาความปลอดภัยของคนในชุมชน เป็นต้น

ประการที่สอง ผู้เข้าพักต้องเช่าห้องพักครั้งละอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม เนื่องจากหากปล่อยให้ผู้ให้เช่า Airbnb เปิดให้เช่าที่พักแบบคืนเดียวได้แล้วจะเป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมต่อธุรกิจโรงแรม และโดยปกติแล้วราคาที่พักของ Airbnb มักมีราคาต่อคืนต่ำกว่าโรงแรมในพื้นที่เดียวกัน อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วการเช่าที่พักที่เดียวกันต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน ไม่สอดคล้องกับทางปฏิบัติของนักท่องเที่ยวซึ่งมักจะไม่อาศัยในเมืองเดียวเป็นเวลานานถึง 7 วัน

ประการที่สาม ผู้ให้เช่าที่พักจะต้องลงทะเบียนกับหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อการตรวจสอบมาตรฐานที่พัก เช่น ระบบเตือนภัย ขนาดของห้องพัก เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ให้เช่าต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการเข้าพักให้กับหน่วยงานท้องถิ่นอีกด้วย เช่น จำนวนและสัญชาติของผู้เข้าพัก ทุก ๆ สองเดือน เป็นต้น

ประการที่สี่ ในบางพื้นที่ของโตเกียว เช่น แขวงชูโอซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญของเมืองโตเกียว มีการห้ามการเช่าที่พักในวันธรรมดา นอกจากนี้ ในย่านชิบูย่ามีการจำกัดให้เช่าที่พักได้เฉพาะช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียน เนื่องจากกฎหมายคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในชุมชนเป็นสำคัญ ส่วนในเมืองเกียวโต มีการกำหนดช่วงเวลาให้เช่าที่พักได้เฉพาะระหว่างวันที่ 15 ม.ค. ถึงวันที่ 15 มี.ค. ของทุกปี เนื่องจากไม่ต้องการให้ Airbnb แข่งขันกับธุรกิจโรงแรมในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว

ในกรณีที่ผู้ให้เช่าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติในกฎหมาย เช่น เปิดให้เช่าที่พักโดยไม่มีการลงทะเบียนกับหน่วยงานท้องถิ่น หรือให้เช่าที่พักเป็นเวลาน้อยกว่า 7 วันแล้ว กฎหมายกำหนดโทษขั้นต่ำคือการปิดให้บริการที่พักดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และกำหนดโทษสูงสุดคือการปรับไม่เกิน 1,000,000 เยน หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

โดยสรุปจะเห็นได้ว่า The Minpaku home sharing law มีเจตนารมณ์ในการควบคุมธุรกิจ Airbnb ให้เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย โดยสร้างหลักเกณฑ์และข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงระบบการจ่ายภาษี และในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจโรงแรมซึ่งสอดรับกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในกฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทางลบต่อเจ้าของที่พัก Airbnb ในแง่รายได้ แต่เป็นการช่วยชุมชนลดปัญหาจากนักท่องเที่ยวที่เข้าพักระยะสั้น

สำหรับในประเทศไทย ธุรกิจ Airbnb มีการเติบโตสูงเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อรองรับธุรกิจเช่าห้องพักประเภทดังกล่าว ส่วนกฎหมายที่กำลังบังคับใช้ เช่น พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 ยังไม่ครอบคลุมถึงธุรกิจ Airbnb เนื่องจากกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายดังกล่าวฉบับ พ.ศ.2551 กำหนดยกเว้นให้ผู้ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ชั่วคราวนั้นไม่ต้องมีใบอนุญาตดำเนินกิจการโรงแรม หากอสังหาริมทรัพย์นั้นมีทั้งหมด 4 ห้อง หรือน้อยกว่า ซึ่งหมายความว่าหากผู้ให้เช่ามีห้องเช่าจำนวน 4 ห้องหรือน้อยกว่าแล้วจะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ให้เช่าผ่าน Airbnb มักมีห้องพักให้เช่าจำนวนเพียง 1-2 ห้องเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ธุรกิจ Airbnb จึงถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย นอกจากนี้ธุรกิจ Airbnb ยังขัดต่อพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติห้ามการใช้อาคารผิดประเภท เช่น การนำอาคารเพื่อการอยู่อาศัยไปทำธุรกิจ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการตรากฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจ Airbnb โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การถ่วงดุลระหว่างการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมกับการใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมทั้งการคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในชุมชนอีกด้วย

 

โดย... 

ชญานี ศรีกระจ่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์