“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (3) วิธี "คิดจัดการ“ ***

“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (3) วิธี "คิดจัดการ“ ***

ตอนที่แล้วผู้เขียนยกตัวอย่าง “สมาร์ทซิตี้” (smart city) ของสิงคโปร์ เมืองและประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกทุกครั้งที่มีการจัดอันดับโครงการ

“สมาร์ทซิตี้” โดยวันนี้รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินนโยบายสมาร์ทซิตี้ภายใต้สโลแกน “สมาร์ท เนชั่น” (Smart Nation, เว็บไซต์ https://www.smartnation.sg/) 

สิงคโปร์เป็นสมาร์ทซิตี้อันดับหนึ่งใน “ดัชนีผลประกอบการสมาร์ทซิตี้โลก” (Global Smart City Performance Index) ประจำปี 2017 จัดทำโดยบริษัท Juniper Research โดยได้อันดับหนึ่งในทั้งสี่มิติที่ “สมาร์ทซิตี้” ทั่วโลกถูกคาดหวังให้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ได้แก่ ด้านการสัญจร (mobility) สุขภาพ (health) ความปลอดภัย (safety) และผลิตภาพ (productivity)

วันนี้มาลองดูรูปธรรมของสมาร์ทซิติ้สิงคโปร์บางตัวอย่าง จนถึงวิธีรับมือกับความท้าทายต่างๆ ของรัฐบาลสิงคโปร์ เพราะเรื่องอย่างนี้ใครๆ พูดแล้วก็ฟังดูดี แต่มัน “พูดง่ายทำยาก” อย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าจะทำแบบมโนทัศน์เน้นคน คือพุ่งเป้าไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง ไม่ใช่สักแต่อวดเทคโนโลยีไฮเทค

รูปธรรมที่ชัดเจนว่ารัฐบาลสิงคโปร์ “มองไกล” เพียงใดกับสมาร์ทซิตี้ ก็คือการเพิ่มขีดลงทุนด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนาสาขาที่เกี่ยวข้อง จากเดิมซึ่งก็เป็นประเทศที่ทุ่มเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ถ้าวัดจากสัดส่วนต่อจีดีพี

ทีมนักวิจัยหลายคณะของ National University of Singapore (NUS) กำลังเน้นการค้นคว้าเรื่องสมาร์ทซิตี้ในสามด้านหลัก ได้แก่ การเก็บรวบรวม big data จากภาคส่วนต่างๆ, การ optimize ผลการวิเคราะห์ข้อมูล big data, และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ วันนี้รัฐบาลมีโครงการมากมายที่จับมือร่วมกับภาคเอกชนและภาควิชาการ เปิดโอกาสให้นักศึกษาและคนนอกเข้าช่วยคิด วิจัย และสร้างต้นแบบ (prototypes) ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีโครงการอย่าง PlayMaker ซึ่งมุ่งหวังให้เด็กก่อนวัยเรียนได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย อย่างเช่นของเล่นหุ่น ยนต์ เป้าหมายคือเพื่อฝึกให้เยาวชนรุ่นใหม่ “คุ้นเคยกับการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี”

ในเมื่อคนสิงคโปร์ใช้เน็ตกันทั้งเกาะและคุ้นเคยกับสมาร์ทโฟนแอพพลิเคชั่นเป็นอย่างดี วันนี้จึงมีแอพพลิเคชั่นต่างๆ มากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนสิงคโปร์ อาทิ SG Nextbus ใช้ข้อมูลเปิด (open data) รายงานเวลามาถึงของรถเมล์สายต่างๆ ในเวลาจริง คนจะได้ไม่ต้องรอ

ด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งประชากรสิงคโปร์กว่า 80% อาศัยอยู่ในที่พักซึ่งรัฐจัดให้ โดยหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้คือ Housing & Development Board (HDB) ตั้งแต่ปี 2015 HDB เริ่มทดสอบเครื่องมือสมาร์ทต่างๆ ซึ่งถูกออกแบบมาให้การใช้ชีวิตในบ้านพักของรัฐมีความสะดวกสบายและประหยัดเงินมากขึ้น เช่น ใช้สมาร์ทโฟนแอพพลิเคชั่นติดตามการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของตัวเอง มีระบบดูแลผู้อาวุโส ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวและผู้ดูแลสามารถติดตามสุขภาพของผู้อาวุโสได้ทุกเมื่อ เวลาที่คนชราต้องอยู่บ้านคนเดียว

แอพพลิเคชั่นชื่อ myResponder ทำให้พลเมืองสามารถช่วยกันรายงานเหตุฉุกเฉิน เช่น หัวใจใครสักคนหยุดเต้น ทุกคนที่ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครในระบบนี้ และอยู่ไม่ไกลเกิน 400 เมตรจากเหตุการณ์จะได้รับการแจ้งเตือน สามารถไปช่วยชีวิตได้ก่อนที่รถพยาบาลฉุกเฉินจะเดินทางไปถึง GovTech หน่วยงานของรัฐซึ่งมีบทบาทนำในการพัฒนาแอพเหล่านี้กล่าวว่า วิธีนี้ได้ผลกว่าวิธีเดิมที่รัฐบาลลองทำ นั่นคือการเพิ่มจำนวนศูนย์พยาบาลฉุกเฉินทั้งเกาะ เพราะถ้าหากรถติด รถพยาบาลก็อาจไปไม่ถึงตัวผู้ป่วยภายในสิบนาที (เวลาที่เหมาะสมในการไปถึงตัว) ทุกวันนี้ระบบนี้มีอาสาสมัครมากกว่า 15,000 คน

เป็นตัวอย่างที่ดีว่า แม้แต่แอพพลิเคชั่นง่ายๆ ไม่ต้องไฮโซหรูหรามัลติฟังก์ชั่นอะไร ก็สามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมขนาดใหญ่ได้ ถ้ามัน “ตอบโจทย์” อย่างชัดเจนตรงประเด็น โจทย์ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนจริงๆ

เหตุผลประการหนึ่งที่แอพอย่าง myResponder มีคนมาลงทะเบียนจำนวนมากและสามารถแบ่งอาสาสมัครเป็นหมวดต่างๆ (เช่น เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือเป็นคนทั่วไป) อย่างรวดเร็วก็คือ มันเป็นการต่อยอดจากระบบ SingPass “บัตรประชาชนออนไลน์” ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ใช้มาตั้งแต่ปี 2003 ระบบนี้เดิมทีถูกออกแบบมาให้ชาวสิงคโปร์ใช้ยืนยันตัวตนเวลาใช้บริการสาธารณะทุกประเภท แต่วันนี้ถูกขยับขยายออกไปมากมาย เช่น SingPass ใช้กรอกแบบฟอร์มของธนาคารโดยอัตโนมัติเวลาจะทำธุรกรรมทางการเงิน และใช้เป็นระบบเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อให้แพทย์และพยาบาลเข้าถึงได้ทันที

ในเมื่อสมาร์ทซิตี้แบบสิงคโปร์จำเป็นจะต้องมีเซนเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (Internet of Things – IoT) จำนวนมหาศาล รัฐบาลกำลังรับมือกับความท้าทายของ IoT ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเพิ่มระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, การกำหนดมาตรฐานการใช้งานร่วมกันทางเทคนิค (interoperability), กรอบการกำกับดูแล (เช่น ยังไม่ชัดเจนว่าอุปกรณ์หลายพันล้านชิ้นนั้นแบบไหนควรต้องมา ลงทะเบียนกับรัฐ และมันจะใช้คลื่นความถี่ย่านไหนอย่างไรบ้าง), การมีโครงข่ายรองรับเพียงพอ (เช่น การหนุนให้ใช้ IPv6 อย่างทั่วถึง) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

(อยากหมายเหตุว่า สิงคโปร์มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตั้งแต่ปี 2012 ส่วนของไทยยังไม่มี และร่างที่ผู้เขียนเคยเห็นก็ยังไม่ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งผู้เล่นภาคธุรกิจบางธุรกิจในไทยก็กำลังทำตัวเป็นอุปสรรค ด้วยการอ้างว่ากฎหมายนี้จะส่งผลเสียต่อธุรกิจ ขอให้ยกเว้นการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำไปแล้วก่อนกฎหมายจะออก!)

ตัวอย่างของสมาร์ทซิตี้สิงคโปร์ชี้ให้เห็นว่า การผลักดันสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถช่วยให้ชีวิตคนเมืองดีขึ้นนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ทัศนคติที่ถูกต้อง” ของภาครัฐ – ทัศนคติที่อยาก “เปิด” ข้อมูลสู่สาธารณะ

และไม่เห่อความ “ใหม่” และความ “ใหญ่” ของโครงการต่างๆ (อาจเพราะตั้งใจที่จะโกง) จนบดบังความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ใน ความต้องการของประชาชน

 

*** ชื่อเต็ม: “คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (3) วิธีคิดและวิธีจัดการ “สมาร์ทซิตี้” ของสิงคโปร์