เราจะรับมือ “อุบัติภัย” ได้อย่างไร
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอุบัติภัยหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง เรือล่มที่ภูเก็ต ที่มีผู้เสียชีวิต และมีผู้สูญหาย
หลายราย รวมทั้งกรณีเครื่องบิน ทบ. ตก ที่แม่ฮ่องสอน และมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต
อุบัติภัย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมมิให้เกิดได้ และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การรับมือกับสถานการณ์ ทั้งการเผชิญเหตุ (Response) การช่วยเหลือ (Rescue) การบรรเทาทุกข์ (Relief) และการฟื้นฟู (Recovery) อย่างทันท่วงที และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
หน่วยงานที่เข้าร่วมให้ความช่วยเหลือ จำเป็นต้องวางแนวทางที่จะดำเนินการ พิจารณาถึงปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องต้องตามเหตุการณ์ รวมทั้งสามารถคาดการณ์ถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า
ในสถานการณ์หลังอุบัติภัย ไม่ว่าผู้ที่เข้าให้ความช่วยเหลือจะมีเจตนาที่ดีเพียงใดก็ตาม สภาพการณ์จะมีความซับซ้อนและทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ดีดังที่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ต้องทำทันทีโดยขาดข้อมูลที่ครบถ้วน การได้รับข้อมูลรายงานที่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หรือมีสภาพความกดดันจากเหตุการณ์ที่ต้องดำเนินการอย่างปัจจุบันทันด่วน
ผู้รับผิดชอบสถานการณ์ จำต้องสำรวจและซักซ้อมกับหน่วยร่วมดำเนินงานเพื่อให้แน่ใจว่า ภาคีได้มีการตระเตรียมความพร้อมและมีความสามารถในการรับมือกับอุบัติภัยได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยข้อคำถามหลักๆ ดังนี้
เราได้เตรียมพร้อมหรือยัง ผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องจำต้องดำเนินการคะเนถึงความต้องการและแรงกดดัน รวมทั้งการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผลและฉับไว
เรามีข้อมูลพอที่จะรับมือหรือไม่ การตัดสินใจจำต้องอาศัยข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่คลุกคลีอยู่ในภาคสนาม เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินให้มีความแม่นยำ
เราจะเข้าช่วยเหลือให้ดีที่สุดได้อย่างไร การเข้าดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถทำโดยตรงในพื้นที่หรือใช้วิธีให้การสนับสนุนช่วยเหลือในระยะไกล โดยอาจมีการผสมผสานรูปแบบการช่วยเหลือให้มีประสิทธิผลสูงสุด ระหว่างเงินช่วยเหลือ สิ่งของที่คำนวณเป็นมูลค่าเทียบเคียง โลจิสติกส์ หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
เรามีหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลหรือไม่ หน่วยร่วมดำเนินงาน หรือหน่วยสนับสนุน ควรมีความรู้ความจัดเจนพื้นที่และมีสมรรถภาพในการทำงานภาคสนาม สมกับเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู
เราได้จัดลำดับความสำคัญอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ หน่วยร่วมดำเนินงานต้องแน่ใจว่าการให้ความช่วยเหลือและสิ่งที่ดำเนินการไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญอื่นๆ และคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่นต่อการดำเนินงานในพื้นที่ประสบเหตุ
เรามีวิธีในการจัดการให้ความช่วยเหลืออย่างไร ผู้นำสถานการณ์ จำต้องรู้จักผู้ประสานงาน ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ช่องทางการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือหน่วยงานในพื้นที่ การดูแลความช่วยเหลือให้เป็นไปตามแผน และการคาดการณ์ล่วงหน้า หากสิ่งที่นำไปช่วยเหลือไม่สามารถนำไปใช้ได้
เรามีแนวทางในการดูแลเผยแพร่ข้อมูลที่สาธารณชนสนใจอย่างไร ผู้รับผิดชอบสถานการณ์จำต้องดำเนินการบริหารการให้ข้อมูลและการสื่อสาร รวมทั้งแง่มุมด้านสื่อตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดจนการกำกับทิศทางของข่าวสารที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ในห้วงเวลาซึ่งเป็นที่สนใจติดตามของสาธารณชน
เราสามารถรับประกันให้มีความพร้อมรับการตรวจสอบหรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน ควรจัดทำบัญชีและรายงานรายการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนที่ได้รับ รวมทั้งวิธีการและงวดเวลาที่เบิกจ่าย รองรับในกรณีที่หากเกิดข้อสงสัยหรือการซักถามจากสังคม ก็สามารถพร้อมให้ตรวจสอบได้ทั้งระหว่างและหลังสถานการณ์
ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก จำต้องพิจารณาถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ด้วยการวางกลไกและระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดความสูญเสียที่คาดไม่ถึง หรือปัญหาในอีกมิติหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้