มอลต้า แดนสวรรค์ของธุรกิจคริปโต
ประเทศต่างๆ พยายามจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินรวมถึงธุรกิจดิจิทัล
สำหรับผู้ที่ท่องเที่ยวยุโรปเป็นประจำอาจจะพอคุ้นชื่อประเทศขนาดเล็กตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยุโรปล้อมรอบด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนที่ชื่อว่า มอลต้ากันอยู่บ้าง เดิมทีประเทศนี้มีจุดขายในแง่ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพราะมีปราสาทเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ตอนนี้โลกกำลังจับตาประเทศที่มีจำนวนประชากร 4 แสนกว่าคนนี้ในฐานะ แดนสวรรค์ของธุรกิจคริปโตแม้แต่นายกรัฐมนตรีของมอลต้ายังเอ่ยปากเองว่า Crypto Currency จะเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตที่จะผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่
ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ธุรกิจ Exchange หลายเจ้า โดยเฉพาะ Binance ซึ่งเป็นตลาดซื้อขาย Crypto Currency อันดับหนึ่งของโลกที่เดิมจดทะเบียนอยู่ที่ฮ่องกงก็ได้ย้ายมาจดทะเบียนที่มอลต้าแล้ว รวมถึงผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ Exchange รายใหม่ต่างมีแผนที่จะย้ายฐานมายังเกาะเล็กๆแห่งนี้โดยรัฐบาลมอลต้ามีเป้าหมายที่จะปั้นตัวเองให้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย Crypto Currency อันดับต้นๆของโลก ท่ามกลางสภาวะไม่แน่นอนในด้านกฎหมายและการกำกับดูแลของประเทศที่เคยติดอันดับต้นๆในด้านธุรกิจคริปโตอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน มอลต้า เลือกที่จะเร่งร่างกฎเกณฑ์กำกับดูแลโดยเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจเงินดิจิทัล
แม้ประเทศจะเล็กมาก แต่มอลต้าก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปซึ่งตอนนี้อียูยังไม่มีความชัดเจนในการกำกับดูแล Crypto Currency แต่มอลต้าก็พยายามที่จะก้าวขึ้นมาแข่งขันกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งติดอันดับต้นๆของโลกในการเป็นศูนย์กลางของการระดมทุนด้วย ICO (โดยเฉพาะที่เมืองเศรษฐกิจอย่าง ZUG)
อีกหนึ่งก้าวสำคัญของมอลต้าคือการผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนการจัดตั้งDigital Banking ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain โดย Binance ได้ประกาศแล้วว่าจะขอใบอนุญาตการเป็นธนาคารที่มอลต้าแน่นอนและจะมีการจ้างงานใหม่ในเกาะเล็กๆแห่งนี้อีก 200 คน รวมถึงรายใหญ่อย่าง OKEX ก็ประกาศแล้วว่าจะย้ายฐานมายังมอลต้าด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของการก้าวขึ้นเป็นแดนสวรรค์ของธุรกิจคริปโตของมอลต้าก็คือประเด็นเรื่อง “ความโปร่งใส” ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับประเทศเล็กๆที่พยายามจะเป็นแดนสวรรค์ของธุรกิจการเงิน (แต่มักจะรู้จักในด้านการเลี่ยงภาษี) อย่าง หมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ฯลฯหลายประเทศๆที่ไม่ได้เปิดกว้างด้านการเงินจึงยังไม่ให้การยอมรับธุรกรรมจากประเทศเหล่านี้มากนัก
หากจะให้สรุปแนวทางการเดินของประเทศขนาดเล็กต่างๆบนโลกนี้ที่พยายามจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง (HUB) ทางด้านการเงินรวมถึงธุรกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น มอลต้า เอสโตเนีย ยิบรอลต้า (ประเทศเล็กๆอยู่ตรงกลางระหว่างสเปนและโมรอกโก) ไซปรัส ฯลฯ เห็นได้ว่าทั้งหมดมีจุดคล้ายกันคือ “ความผ่อนคลาย” ทางด้านกฎหมายและการกำกับดูแล พูดง่ายๆคือสร้างความชัดเจนและหยวนๆให้ผู้ประกอบการ การหลั่งไหลของเทคโนโลยีและบุคลากรรวมถึงเม็ดเงินก็จะออกจากประเทศขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมแต่คลุมเครือในเรื่องของการกำกับดูแลมายังประเทศเหล่านี้ ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะประเทศพวกนี้ไม่มีจุดขายทางด้านเศรษฐกิจมากนัก
ประเทศไทยเองที่มีกฎหมายกำกับธุรกิจคริปโตออกมาอย่างชัดเจน หากมีรูปแบบการกำกับดูแลที่สมดุลคือไม่แข็งและอ่อนเกินไปรวมถึงมีวิธีการจัดเก็บภาษีที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ผมเชื่อว่าน่าจะมีภาคธุรกิจจากต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการในประเทศเรา ทำให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีได้เช่นกันครับ แต่ถ้ารูปแบบการกำกับและภาษีที่ไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการก็อาจจะเสียความสามารถในการแข่งขันไปครับ