Tencent ผู้เปลี่ยนตำนานแชท

Tencent ผู้เปลี่ยนตำนานแชท

แม้เฟซบุ๊คจะมีผู้ใช้งานเฉลี่ยกว่า 1,450 ล้านรายต่อวันหรือรวมกว่า 2,200 ล้านรายต่อเดือน จนได้ชื่อว่าเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมที่สุดของโลก

                                                               

แต่ WeChat (หรือ Weixin) แอพจากค่าย Tencent ที่เริ่มต้นจากแชทหรือแมสเสจจินแอพได้ปรับตัวจนกลายเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม โมบายเพย์เมนท์และเกมส์แพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดของจีนและสร้างผลงานไม่น้อยหน้าเฟซบุ๊ค โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านรายต่อเดือน ทำให้ Tencent มีรายได้ในไตรมาสแรกของปี 2018 ถึง 11,500 ล้านดอลลาร์และมีกำไรกว่า 3,650 ล้านดอลลาร์

 

WeChat อภิมหาแอพ

WeChat ได้เปลี่ยนตำนานจากการเป็นแชทแอพไปเป็นโซเชียลมีเดียแอพ จนได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “App for Everything” หรือซุปเปอร์แอพที่รวมมินิมิโปรแกรม (Mini Program) หรือมินิแอพกว่า 1,000,000 มินิโปรแกรมเพื่อให้บริการเกือบทุกอย่างกับสมาชิกไว้ภายใต้ระบบ Ecosystem เดียว โดยมินิโปรแกรมเหล่านี้จะมีขนาดเล็กกว่า 10 เมกกะไบรท์ สามารถทำงานได้ทันทีภายใต้แพลตฟอร์มของ WeChat โดยไม่ต้องติดตั้งลงในสมาร์ทโฟนเหมือนกับแอพที่ต้องติดตั้งลงในระบบปฏิบัติการ iOS หรือแอนดรอยด์ จึงหลีกเลี่ยงการทำงานผ่านแอพสโตร์ โดย WeChat สามารถให้บริการหลากหลายตั้งแต่การชำระเงิน หาร้านอาหาร เรียกรถแท็กซี่ นัดแพทย์ การประชุมและทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น

 

Tencent ได้เปิดโอกาสให้นักพัฒนาโปรแกรมจากบริษัทอื่นสามารถสร้างมินิโปรแกรมเพื่อทำงานภายใต้แพลตฟอร์มของ WeChat โดยแบ่งรายได้ประมาณ 30% ถึง 50% จากการโฆษณาในมินิโปรแกรมให้กับนักพัฒนา จนมีนักพัฒนาสนใจเข้าร่วมสร้างมินิโปรแกรมมากกว่าหนึ่งล้านราย ทำให้มีมินิโปรแกรมเพิ่มขึ้นจาก 580,000 เป็นกว่าหนึ่งล้านมินิโปรแกรมในเวลาอันสั้น โดยแบรนด์ชั้นนำที่ทำธุรกิจในจีนต่างเร่งพัฒนามินิโปรแกรมในแพลตฟอร์มของ WeChat เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

 

รายได้ใหญ่จากเกมส์

มินิโปรแกรมอย่าง Jump Jump ซึ่งเป็นโมบายเกมส์ขนาดเล็กที่ดึงผู้เล่นได้ถึง 400 ล้านรายในเวลาเพียง 3 วันแรกที่ออกใช้งาน ปัจจุบันมีผู้เล่นประมาณ 100 ล้านคนต่อวันจึงเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของแคชชวลเกมส์ที่สร้างความชื่นชอบให้กับสมาชิกและทำรายได้จากการโฆษณา (Online Media) ให้กับ WeChat อย่างเป็นกอบเป็นกำ

 

รายได้จากการโฆษณาของ WeChat ประกอบด้วย Internet Ad ประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์ และรายได้จาก Social Media Ad และโฆษณาในลักษณะอื่นอีกกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ โดยมีแผนจะเพิ่มรายรับด้านการโฆษณาให้มากขึ้น

 

Tencent สร้างรายได้อย่างงามจากโมบายเกมส์ในไตรมาสแรกของปี 2018 ถึง 3,350 ล้านดอลลาร์ด้วยเกมส์อย่าง "Honour of Kings" หรือ "King of Glory" และเกมส์บนพีซีอย่าง QQ Speed ที่ทำรายได้ถึง 2,200 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ Tencent ยังถือหุ้นถึง 40% ในบริษัท Epic Games ในอเมริกาซึ่งเป็นผู้พัฒนาเกมส์ “Fortnite: Battle Royale” ที่โด่งดังมีผู้เล่นเกมส์กว่า 125 ล้านรายในเวลาเพียงแปดเดือน และเก็บรายได้แล้วกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์

 

เขย่าบัลลังก์เจ้าสนามเดิม

Tencent ได้พัฒนาและเปิดใช้โมบายเพย์เมนท์ “WeChat Pay” เพื่อให้บริการสมาชิกของ WeChat และร้านค้าสามารถรับจ่ายเงินผ่านทางบัญชีของ WeChat ทั้งในการสั่งซื้อทางออนไลน์หรือทาง “Online to Offline (O2O)” ทำให้เจ้าสนามรายใหญ่อย่าง Alipay ของอาลีบาบาออกมารับมือ จนเกิดศึกระหว่างสองค่ายใหญ่แดนมังกรอย่าง Tencent และอาลีบาบา โดยมีสัดส่วนตลาดโมบายเพย์เมนท์นับสิบล้านล้านดอลลาร์เป็นเดิมพัน

 

Alipay ซึ่งเคยมีสัดส่วนโมบายเพย์เมนท์ 80% ในปี 2014 ได้มีสัดส่วนลดลงเหลือ 54% ในปี 2017 โดย WeChat Pay กลับมีสัดส่วนเป็น 40% การแข่งขันของสองค่ายมีให้เห็นตั้งแต่การส่งอั่งเป่าออนไลน์ (Red Envelope) การชำระเงินในระบบขนส่งมวลชนของจีน หรือกระทั่งการจับจ่ายของนักเดินทางชาวจีน (Tourist) โดย Tencent ได้เร่งขยายฐานเพื่อรองรับการใช้จ่ายออกไปใน 15 ประเทศและใช้แลกเปลี่ยนได้กับ 12 สกุลเงิน

 

นอกจากนี้ Tencent ยังได้ลงทุนในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอันดับที่สองของจีนอย่าง JD.com และร่วมกับพันธมิตรด้านค้าปลีกรายใหญ่อย่างวอลมาร์ท คาร์ฟูร์ และ Yonghui ซุปเปอร์สโตร์ เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ WeChat Pay นับเป็นการเขย่าบัลลังก์อีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา

 

แอพเดียวสำหรับทุกสิ่ง

ไม่เพียงแต่การเป็นแอพเดียวสำหรับทุกสิ่ง WeChat ยังทำงานกับทางการจีนในการพัฒนาระบบบัตรประจำตัวประชาชนแบบเวอร์ชวล (China’s Electronic ID System) เพื่อใช้แทนบัตรประชาชนแบบเดิม

 

ความแข็งแกร่งของ Tencent ได้ทำให้บริษัทผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำดิจิทัลของโลกที่ประมาณมูลค่าถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ และทำให้ หม่า ฮั่วเถิง หรือโพนี่ หม่า (Pony Ma) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีน นอกจากนี้โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์ม WeChat ได้เป็นต้นแบบแนวคิดการพัฒนาระบบที่แม้กระทั่งบริษัทดิจิทัลในซีกโลกตะวันตกยังต้องหันมาตาม