กฎหมายกีฬากับการส่งเสริมกีฬาอาชีพในประเทศไทย
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา วงการการกีฬาในประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากในอดีตที่กีฬาเป็นเพียงการเล่นเพื่อนันทนาการ
หรือการพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้รูปแบบการเล่นกีฬามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจนเริ่มมีการพัฒนาเข้าสู่การเล่นกีฬาเพื่อการอาชีพเกิดขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกีฬาอาชีพขึ้นเป็นครั้งแรก
จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยมีความพยายามที่จะยกระดับของการเล่นกีฬาให้สามารถพัฒนาได้ทันตามความเป็นไปของวงการกีฬาในต่างประเทศ โดยมีลักษณะที่สามารถเล่นกีฬาเพื่อประกอบเป็นอาชีพได้ และตามประกาศของการกีฬาแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดชนิดกีฬาที่เป็นกีฬาอาชีพ กำหนดประเภทกีฬาทั้งหมด 13 ชนิด คือ ฟุตบอล กอล์ฟ เจ็ตสกี วอลเลย์บอล ตะกร้อ โบว์ลิ่ง แข่งรถจักรยานยนต์ จักรยาน แข่งรถยนต์ สนุ๊กเก้อ แบดมินตัน เทนนิส และบาสเกตบอล ส่วนกีฬามวยนั้นได้มี พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. 2542 เพื่อควบคุมดูแลวงการมวยเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมดูแลวงการกีฬาเป็นการเฉพาะเหมือนเช่นในต่างประเทศที่ได้มีการพัฒนากฎหมายกีฬาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมดูแลวงการกีฬาโดยภาพรวม โดยมีการจัดรวบรวมหมวดหมู่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเพื่อทำการศึกษาและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่นในประเทศอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น หรือในบางประเทศถึงกับได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายกีฬาขึ้นเช่นในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยคำว่ากฎหมายกีฬายังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่มีบรรทัดฐานเหมือนในต่างประเทศ โดยกฎหมายเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะและกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรกีฬา ได้แก่
(1) พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่จัดตั้งการกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้นโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการกีฬาและควบคุมการดำเนินกิจการกีฬาในประเทศไทย โดยกฎหมายได้กำหนดวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการต่าง ๆ เงื่อนไขในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านกีฬา กองทุนการพัฒนากีฬาแห่งชาติ สมาคมกีฬาในรูปแบบต่าง ๆ การกำกับดูแลคณะกรรมการด้านกีฬา เป็นต้น
(2) พ.ร.บ. สถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548 เป็นกฎหมายที่จัดตั้งสถาบันการพลศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงแก่บุคลากรทางด้านพลศึกษา การกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์สุขภาพ นันทนาการ และวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมการวิจัย การให้บริการชุมชน การใช้และพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการศึกษาแก่ผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางกีฬานันทนาการและผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายโดยเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
กลุ่มที่ 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและนักกีฬา ได้แก่
(1) พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. 2542 เนื่องจากกีฬามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการแข่งขันมวยไทยได้กลายเป็นกีฬามวยที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ดังนั้นจึงควรมีกฎหมายที่ควบคุมดูแลการแข่งขันมวยและส่งเสริมสนับสนุนกีฬามวยให้มีมาตรฐานและเพื่อจัดให้มีสวัสดิการแก่นักมวยและบุคคลในวงการกีฬามวยที่เหมาะสม
(2) พ.ร.บ. ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 โดยที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกได้ประกาศให้ดำเนินการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยการสร้างทักษะความพร้อมทางกายภาพและจิตสำนึกทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ในการแข่งขันกีฬาด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นไปด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรมโดยไม่ต้องใช้สารต้องห้าม รวมทั้งให้การคุ้มครองต่อสุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬา เพื่อให้มีมาตรการการควบคุมการใช้สารต้องห้ามที่สอดคล้องกับคำประกาศโคเปนเฮเกนว่าด้วยการต่อต้านสารต้องห้ามทางการกีฬาและส่งเสริมความร่วมมือด้านกีฬากับนานาประเทศ การที่ประเทศไทยต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับองค์กรกีฬาระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงทำให้ต้องมีการออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ให้สอดคล้องกับหลักการนี้
(3) พ.ร.บ. ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 โดยที่กีฬาอาชีพเป็นกิจกรรมกีฬาที่นานาประเทศให้ความสำคัญและเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆเกี่ยวกับกีฬาอาชีพให้สอดคล้องกับสากลและเป็นการยกระดับมาตรฐานการกีฬาอาชีพในประเทศไทยในการคุ้มครองช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ จึงได้มีการออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับการพัฒนาวงการกีฬาอาชีพในประเทศไทยต่อไปในอนาคต
กลุ่มที่ 3 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการกีฬา ได้แก่
(1) พ.ร.บ. นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาฉบับล่าสุดที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2561 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าการกีฬาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถของประชาชน แต่ประเทศไทยยังขาดกลไกการพัฒนาด้านนโยบายพื้นฐานทางการกีฬาเพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงสมควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้งกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายและแผน อันจะเป็นผลให้การบริหารจัดการด้านการกีฬาเป็นระบบและมีเครือข่ายในการพัฒนาการกีฬาอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกีฬาโดยตรงในประเทศไทยมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำกฎหมายอื่น ๆ ที่มีอยู่มาปรับใช้ตามความเหมาะสม เช่นการนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ในเรื่องการทำสัญญานักกีฬาอาชีพ เป็นต้น ซึ่งแม้การนำกฎหมายหลักมาปรับใช้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบันของวงการกีฬาที่มีการพัฒนาไปอย่างมากจึงควรมีกฎหมายที่สามารถรองรับและนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องต่อการพัฒนาวงการกีฬาของประเทศไทยในปัจจุบันและในอนาคต
นอกจากนี้ ควรมีการจัดรวบรวมหมวดหมู่ของกฎหมายที่นำมาบังคับกับวงการกีฬาโดยตรงตั้งแต่ระดับการเล่นกีฬาเพื่อนันทนาการไปจนถึงการเล่นกีฬาเพื่อการอาชีพเพราะกีฬาถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันทุกคนและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 71 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายที่กำหนดไว้ว่า “รัฐพึงส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน”
โดย...
พรพล เทศทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์