Speed Factory เร่งเครื่องให้เร็วตามเทรนด์
อุตสาหกรรมหลากประเภทต่างจับตามองกระแสดิจิทัลที่ได้ก่อตัว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการออกแบบการผลิต
และโมเดลธุรกิจที่มีตัวอย่างให้เห็นต่อเนื่อง อุตสาหกรรมแฟชั่นและกีฬานับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งนอกจากการใช้อีคอมเมิรซ์เพื่อการขายผ่านออนไลน์แล้ว ธุรกิจยังเผชิญกับความคาดหวังของลูกค้าที่คุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน นับแต่ความหลากหลายของสินค้าในสไตล์ที่แปลกใหม่จนถึงความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายและจัดส่ง
ไลฟ์สไตล์ดิจิทัลทำให้แบรนด์ชั้นนำต่างเร่งพัฒนาสินค้าที่โดนใจลูกค้าและให้บริการที่รวดเร็วเพียงปลายนิ้วคลิก ธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ของผู้คนโดยการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้ในงานออกแบบ การผลิต การตลาด การขายและการให้บริการ แบรนด์แฟชั่นและกีฬาชั้นนำอย่าง อาดิดาส (Adidas) และไนกี้ (Nike) เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการใช้นวัตกรรมในการผลิตการออกแบบและการขายผ่านเทคโนโลยี “Speed Factory” ที่ล้ำหน้า
Factory of the Future
กระบวนการผลิตรองเท้ากีฬาใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับตั้งแต่ตัดเย็บติดกาวและเข้ารูปเป็นรองเท้ากีฬาซึ่งต้องอาศัยฝีมือแรงงานจำนวนมากจากโรงงานผลิตในเอเซีย และใช้เวลาอีก 60 วันในการส่งสินค้ากลับไปขายยังทวีปยุโรปและอเมริกา นับเป็นเวลาหลายเดือนกว่ารองเท้าที่ออกแบบพร้อมผลิตจะถูกผลิตและส่งถึงมือลูกค้า
ในปลายปี 2015 อาดิดาสได้เปิดตัวโรงงาน Speed Factory แห่งแรกที่เมืองอันส์บัค (Ansbach) ในเยอรมันให้เป็นโรงงานต้นแบบสำหรับทดลองวิจัยและผลิตรองเท้าด้วยหุ่นยนต์และเครื่องจักรในการตัดเย็บที่ทันสมัย โดยมีแนวคิดเพื่อให้สามารถผลิตรองเท้าให้เสร็จสมบูรณ์ภายในโรงงานเดียวและตั้งโรงงานนั้นในเมืองที่ลูกค้าอยู่ ทำให้ลดเวลาและลดแรงงานในการผลิตลง อีกทั้งยังลดระยะทางในการจัดส่ง โดยโรงงานในเมืองอันส์บัคใช้พนักงานเพียง 160 คนจากที่เคยใช้แรงงานในโรงงานอื่นตั้งแต่ 500 ถึง 1,000 คน
Speed Factory ดำเนินงานด้วยทีมงานกว่า 120 คนที่มีชื่อว่า “The Future Team” ซึ่งมีบทบาทต่อการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของอาดิดาส จากที่ผ่านมาธุรกิจรองเท้ากีฬาจะเน้นที่การออกแบบ การตลาดและการขาย โดยส่งออเดอร์ให้โรงงานคู่ค้าซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเซียเป็นผู้ผลิตสินค้า ดังนั้นการผลิตสินค้าเองผ่าน Speed Factory จึงเปิดโอกาสให้อาดิดาสสามารถส่งสินค้าแก่ร้านค้าได้ตามสไตล์และขนาดที่ลูกค้าในแต่ละแห่งต้องการในเวลาเพียงไม่กี่วันแทนที่จะใช้เวลาหลายเดือนเช่นที่เป็นอยู่ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อกสินค้าและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น ถึงแม้ว่ากระบวนการผลิตใหม่จะสามารถผลิตรองเท้ากว่า 1,000,000 คู่ในปี 2018 ก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับจำนวนการผลิตกว่า 360 ล้านคู่ต่อปีแล้วเชื่อว่าอาดิดาสยังมีตัวเลขการผลิตที่ท้าทายรออยู่
Mass Personalization
การผลิตรองเท้าแบบเดิมใช้เวลาตั้งแต่ออกแบบจนถึงมือลูกค้ามากกว่า 18 เดือน การผลิตที่รวดเร็วของ Speed Factory ได้ช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าเพื่อทดลองตลาดก่อนการผลิตจำนวนมาก ตลอดจนช่วยให้สามารถปรับสินค้าให้เหมาะกับชีวิตประจำวันของผู้คนในแต่ละพื้นที่
เมื่อปี 2016 อาดิดาสได้เปิดตัวรองเท้ารุ่น Futurecraft M.F.G. (Made for Germany) ซึ่งมีลูกค้าสนใจต่อแถวข้ามคืนเพื่อรอซื้อรองเท้ารุ่นพิเศษที่ผลิตเพียง 500 คู่จนหมดทันที และในปี 2017 อาดิดาสได้เปิดร้าน “Storefactory” ในกรุงเบอร์ลินเพื่อทดลองผลิตสินค้าตามสั่ง (Made to Order) โดยลูกค้าเพียงสแกนร่างในโชว์รูมเพื่อใช้ในการออกแบบเสื้อสเว็ตเตอร์อาดิดาสในสไตล์ที่ชอบและรับสินค้าได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ช่วยให้บริษัทสามารถศึกษาการออกแบบ การผลิตแบบใหม่และผลิตสินค้าที่เฉพาะส่วนตัวได้ และในอนาคตจะช่วยพัฒนาความสามารถในการผลิตสินค้าเฉพาะสำหรับลูกค้า (Customization) ที่ต้องการรองเท้าหรือเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของผู้สวมใส่
Nike ผลักดันนวัตกรรมผลิต
ไนกี้ได้นำนวัตกรรม Virtual Prototyping เข้าสู่ขบวนการผลิตเพื่อลดเวลาในการออกแบบโดยร่วมเป็นพันธมิตรกับ NOVA ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ DreamWorks ในการสร้าง Photorealistic 3D Images สำหรับสินค้าต้นแบบและการทำวัสดุจำลอง (Material Simulations) ในการออกแบบผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ไนกี้ได้ร่วมทุนในบริษัท Grabit ที่ใช้เทคโนโลยี Electroadhesion ในการใช้ไฟฟ้าสถิตย์เพื่อช่วยให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนย้ายแผ่นผ้าหรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ในระหว่างการผลิต โดยไนกี้ได้ขยายการลงทุนในนวัตกรรม AI และการผลิตในลักษณะ Speed Factory เช่นกัน
เร่งเครื่องให้ทำได้จริง
ในขณะที่แบรนด์ชั้นนำทั่วโลกต่างเร่งแข่งขันเพื่อนำดิจิทัลมาใช้ได้ก่อนคู่แข่ง ความสำคัญของการใช้ดิจิทัลควรถูกเน้นที่การนำไปใช้และสร้างผลประกอบการได้จริง หากสินค้าราคาสูงจนยากแก่การตัดสินใจซื้อ การขายสินค้าจำนวนมากย่อมเกิดได้ยาก การทดลองและการใช้ข้อมูลเพื่อศึกษาตลาดและควบคุมต้นทุนการผลิตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นนอกเหนือจากการใช้นวัตกรรม