“จัดบ้าน” ก่อนตาย
สถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบก็คือ “ของล้นบ้าน” “ไม่รู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับของที่สะสมไว้” “เบื่อหน่ายกับของที่มีเต็มไปหมด”
“ไม่กล้าย้ายบ้านเพราะกลัวต้องขนย้ายของ ที่มี” ฯลฯ ที่เลวร้ายสุดหากคำนึงถึงของที่เก็บสะสมไว้ยาวนานก็คือหากตายไปแล้วของเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน และจะทำอะไรกับมันดีก่อนที่จะถึงวันนั้น มีหนังสือดังเล่มหนึ่งที่ให้คำแนะนำที่น่าสนใจ
ทุกคนล้วนมีสิ่งของที่รักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็นของธรรมดาตุ๊กตาเครื่องแก้ว พระเครื่องปืนแสตมป์นาฬิกาแหวนตุ้มหูหนังสือ อัลปั้มรูปภาพครอบครัว มีดปากกา ไฟเช็คฯลฯ ที่เก็บหรือสะสมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มสาว ความจริงที่โหดร้ายก็คือ เมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีอะไรจะประกันได้ว่าคนอื่นเขาจะรักใคร่ใยดี ทะนุถนอม และเห็นคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้เหมือนตัวท่าน เพราะเขาไม่ใช่ท่านและย่อมมีรสนิยมที่แตกต่างไป
รูปภาพบางรูปเช่นรูปกับแม่ที่ท่านรักดังดวงใจ อาจถูกโยนทิ้งลงถังขยะไปก็ได้เพราะคนอื่นเขาไม่เห็นว่ามีความหมาย หนังสือชื่อThe Gentle Art of Swedish Death Cleaning (2018) เขียนโดยMargareta Magnusson พยายามให้คำตอบแก่สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อความสุขของท่านและลูกหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อปิดบังสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้ลูกหลานรู้หรืออาจทำให้ลูกหลานหมางใจกันหรืออาจทำให้เกิดความรู้สึกดูแคลนท่าน
เกือบทุกคนล้วนมีของติดตัวมาตั้งแต่หนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเอกสารหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ ถ้วยโถโอชาม อัลบั้มรูปภาพ ของสะสมเก่าใหม่เก็บซ่อนสะสมในกล่องหรือกองไว้ที่ไหนสักแห่งในบ้าน แค่คิดจะรื้อโยนทิ้งไปบ้างเพราะรกบ้านก็อ่อนใจแล้ว ลองคิดดูถ้าท่านตายไปลูกหลานจะเหนื่อยเป็นภาระแค่ไหนกับการที่ต้องรื้อสิ่งของเหล่านี้ ต้องเสียเวลาและแรงงานคัดเลือกของหรือไม่ก็โยนทิ้งไปเสียทั้งหมด
Magnusson นักเขียนมีชื่อของสวีเดนบอกว่า ตนเองมีอายุอยู่ระหว่าง 80-100 อยู่มาทั่วโลก ย้ายบ้าน 17 หนเธอมีลูก 5 คน เมื่อสามีจากไปเมื่อแต่งงานกันได้ 48 ปี ก็ต้องย้ายจากบ้านมาอยู่อพาร์ทเม้นท์ เหตุการณ์นี้ทำให้เธอนึกถึงคำในภาษาสวีเดนที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้
“döstädning” ในภาษาสวีเดนหรือ “death cleaning” หมายถึงกระบวนการจัดบ้านให้เรียบร้อยเมื่อตระหนักว่าตนเองเป็น“ไม้ใกล้ฝั่ง” เธอให้คำแนะนำพอสรุปได้ดังนี้
(1) การจะสามารถเริ่ม “จัดบ้าน” ให้เรียบร้อยก่อนตายได้นั้น ต้องยอมรับเสียก่อนว่า ความตายเป็นเรื่องปกติ(มรณานุสติ) ที่เกิดขึ้นกับทุกคนโดยตนเองอยู่ในวัยที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งไม่ต้องการให้ความตายของตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น
(2) วัยที่ควรเริ่ม “จัดบ้าน” คือ 65 ปี ซึ่งเป็นวัยที่แข็งแรงพอที่จะยังจัดการได้ บ่อยครั้งที่แรงบันดาลใจ คือ การจากไปของคนที่รักกำลังจะเลิกหรือหย่ากับคู่ชีวิต จะอยู่บ้านที่มีขนาดเล็กลงหรือเตรียมตัวไปอยู่บ้านคนชรา
(3) döstädning มิได้หมายถึงการจัดให้เป็นระเบียบเท่านั้น หากหมายถึง พิจารณาสิ่งของที่มีทั้งหมดอย่างละเอียด ว่าอะไรจะทิ้ง อะไรจะมอบให้ใคร อะไรจะขาย และอะไรที่พอจะเก็บไว้เพื่อการมีชีวิตอยู่จนถึงบั้นปลาย
(4) เริ่มต้น “จัดบ้าน” โดยมุ่งไปที่ของใหญ่ที่เก็บไว้โดยไม่ใช้ก่อนเช่น ตู้เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬาที่ไม่ใช้ แล้วฯลฯ โดยมอบให้คนที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือคนชอบพอกัน อย่าเริ่มที่สิ่งเล็กๆ เช่น จดหมายเก่า รูปเก่า ภาพเก่าฯลฯเพราะจะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานาน การอ่านและการเลือกทิ้งของเหล่านี้จะทำให้นึกถึงความหลัง เกิดความรู้สึกเก่าๆ ซึ่งมีทั้งอารมณ์ขัน อารมณ์เศร้า อารมณ์รักอาวรณ์จนเหนื่อยอ่อนใจเสียก่อนที่จะ“จัดบ้าน”ได้สำเร็จ
(5) เมื่อจัดการของชิ้นใหญ่ได้โดยต้องตัดใจในเรื่องความผูกพันทางใจกับสิ่งของเหล่านี้ที่มีมาแต่อดีต จงคิดเสียว่าเมื่อตายไปก็ไม่พานพบมันอีกและไม่รู้ชะตากรรมของมัน จัดการกับมันตอนนี้ยังกำหนดได้ว่าให้ใครเป็นเจ้าของ
(6) สิ่งสำคัญมากคือจงทำลายจดหมายบันทึกเอกสาร สิ่งพิมพ์ รูปถ่าย ข้อเขียนหรือสิ่งของที่เป็นสิ่งที่เปิดเผยความลับส่วนตัวเพราะอาจทำให้ตนเองดูไม่ดี ดูไม่อยู่ในทำนองครองธรรมในสายตาของลูกหลานโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสร้างความรู้สึกลบเกี่ยวกับตนเองโดยไม่จำเป็น
(7) รูปภาพทั้งหมดแปรให้อยู่ในไฟล์ดิจิทัลเพื่อความคงอยู่ต่อไปหากลูกหลานสนใจ หากเก็บไว้เป็นภาพอย่างเก่าอาจผุพังและถูกโยนทิ้งเพราะไม่เห็นความสำคัญ
(8) คุยกับลูกหลานในเรื่องความตายอย่างเปิดเผยว่า จะให้สิ่งใดแก่ใครเมื่อตายไปแล้ว พร้อมสนับสนุนด้วยเอกสารแสดงเจตจำนงเพื่อไม่ให้ลูกหลานทะเลาะกันและอิจฉาริษยากัน ต้องใส่ใจประเด็นนี้เพราะไม่สมควรให้การตายของตนเป็นสิ่งบั่นทอนความรักสามัคคีของลูกหลานต่อไปในภายภาคหน้า
Magnusson บอกว่าลูกหลานอยากได้ของดีๆ บางชิ้นที่ได้เลือกสรรมาแล้วแต่ไม่ต้องการของทั้งหมด เพราะในสายตาของเขานั้นส่วนหนึ่งเป็นขยะ สำหรับผู้เขียนขอบอกว่า ถ้าคิดว่าเมื่อเกิดมาก็ไม่ได้มีอะไรติดมือมาเลยเช่นเดียวกันตอนจากไปสิ่งของที่เราสะสมมานั้นเป็นสมบัติชั่วคราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราอยู่บนโลกนี้ เราไม่ควรทำให้มันตกเป็นภาระของลูกหลานมันควรเป็นสิ่งสร้างสรรค์สำหรับลูกหลานในชั่วคนต่อไป