ปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวสหรัฐต้องปรับตัวสูงขึ้

ปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวสหรัฐต้องปรับตัวสูงขึ้

ในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐว่า น่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกจาก 2.00-2.25% ในขณะนี้เป็น 3.00-3.25%

ในปลายปี 2019 นอกจากนั้น ผมก็ยังเชื่อว่า ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ (หรือผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของรัฐบาลสหรัฐ) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.23% ก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีกประมาณ 1% ดังนั้น ดอกเบี้ยระยะยาวที่ 4% หรือมากกว่าภายในปลายปี 2019 จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก และดอกเบี้ยระยะยาวนั้น น่าจะมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเป็นดอกเบี้ยที่ใช้เป็นบรรทัดฐานข้นต่ำในการออกพันธบัตรของเอกชนเป็นต้นทุนของนโยบายการคลัง และการกู้ยืมระยะยาวของประชาชน เพื่อที่อยู่อาศัย และสินค้าคงทน นอกจากนั้น ดอกเบี้ยระยะยาวของไทยยังมีความสัมพันธ์ทางสถิติสูงกับดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ กล่าวคือ Correlationเท่ากับ 85% ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยระยะยาวของไทยก็คงจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นพร้อมกันไปด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นว่าดอกเบี้ยสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นไป 1% ดอกเบี้ยไทยก็จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยปรับหรือไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ตาม

ทำไมจึงจะมั่นใจว่าดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐต้องปรับตัวสูงขึ้น เพราะก็ได้เคยมีการพูดกันมากว่า ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐจะถูกตรึงโดยมาตรการคิวอีของยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งยังดำเนินต่อไปอีก แม้ว่า ยุโรปน่าจะยุติมาตรการคิวอีภายในปลายปีหน้า กล่าวคือ คิวอีในยุโรป ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวของเยอรมัน อยู่ที่ 0.7% และดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่น (10 yr JGB) อยู่ที่ 0.1% ซึ่งน่าจะยังฉุดรั้งดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐไม่ให้ปรับตัวสูงไปกว่านี้

ผมเห็นด้วยว่ามาตรการคิวอีของยุโรป และญี่ปุ่นจะส่งผลในการชะลอการปรับขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นบวกเศรษฐกิจเยอรมันนั้น รวมกันยังได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐ (ไอเอ็มเอฟ ประเมิน จีดีพี ของสหรัฐที่ 19.4 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2017 เทียบกับ 4.9 ล้านล้านเหรียญ สำหรับจีดีพีญี่ปุ่นและ 3.7 ล้านล้านเหรียญ สำหรับจีดีพีเยอรมัน) ดังนั้น จึงน่าจะเห็นดอกเบี้ยของเยอรมันและญี่ปุ่นค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า

ปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 1 ปี ข้างหน้ามีดังนี้คือ

  1. รัฐบาลสหรัฐกำลังขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกล่าวคือ ขาดดุล 666,000 ล้านเหรียญในปีงบประมาณ 2017 และใน 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2018 ขาดดุลไปแล้ว898,000 ล้านเหรียญ สำหรับปี 2019 นั้น ทำเนียบขาวยอมรับว่าจะขาดดุลเกินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ และการขาดดุล ก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ อีก 7-8 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษี และเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐ ที่กำลังกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ รัฐบาลสหรัฐจะขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 5% ของ จีดีพี อย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี แปลว่าจะมีพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมาขายเพิ่มอีกให้ปีละกว่า 1 ล้านล้านเหรียญไปอีกหลายปี
  2. ประเทศสหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งแปลว่า คนอเมริกันใช้จ่ายเกินตัว หรืออีกนัยหนึ่งคือ การออมขาดแคลน ต้องพึ่งพาการออมสุทธิจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องดูว่าประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด จะมีเงินและอยากซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเพียงใด เดิมทีประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากที่สุดคือ จีน (เคยเกินดุล 350,000 ล้านเหรียญ) แต่ปัจจุบันเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอย่างมาก (ขาดดุลในไตรมาสแรกของปีนี้) และไอเอมเอฟ ประเมินว่า จะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ 167,000 ล้านเหรียญในปีนี้ ต่อมาคือประเทศเยอรมัน ซึ่ง ไอเอมเอฟประเมินว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 364,000 ล้านเหรียญในปีนี้ และญี่ปุ่น ซึ่งจะเกินดุล 199,000 ล้านเหรียญ แต่ 2 ประเทศหลังนี้ มิได้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ก็ยังถูกสหรัฐข่มขู่ให้ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอีกด้วย จึงไม่แน่ใจว่าจะมีเงินและอยากซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น อาจมีบางประเทศ เช่น กลุ่มโอเปค และประเทศที่ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก เช่น ไทย และเกาหลีใต้ ยังต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่ม แต่หากมีปริมาณออกมามาก และมีแนวโน้มว่า ราคาพันธบัตรจะลดลงก็คงต้องกลัวการขาดทุนและซื้ออย่างระมัดระวัง
  3. เศรษฐกิจที่ร้อนแรงของสหรัฐ พร้อมกับการตึงตัวอย่างมากของตลาดแรงงานของสหรัฐ จะทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อต้องเร่งตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น การที่รัฐบาลสหรัฐเพิ่มภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้าก็จะยิ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก

ดังนั้น จึงสรุปว่า ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปอีก และหากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเชื่องช้าเกินไป ทำให้เงินเฟ้อรับตัวสูงขึ้นกว่าเป้าหมายก็อาจทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวต้องเร่งปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีกได้ครับ