สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนมีข้อสังเกตเหมือนกันว่า ประเทศไทยเรามีคนต่างชาติเข้ามาอยู่กันมากขึ้น บางกลุ่มเป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาระยะสั้น

ขณะที่บางกลุ่มเหมือนจะใช้ชีวิตอยู่ในไทยมานานแล้ว เมื่อก่อนกลุ่มหลังนี้มักเป็นคนวัยกำลังแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทย แต่เดี๋ยวนี้ ดูเหมือนจะมีผู้สูงวัยต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพบได้ทั้งในพื้นที่เขตเมืองหรือแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ชุมชนในหมู่บ้านชนบท พวกเขา (ผู้สูงอายุต่างชาติเหล่านี้) เป็นใครมาทำอะไร มีจำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหนกัน แล้วอยู่กันอย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจ แต่ที่ผ่านมา เท่าที่สืบค้น พบว่า ยังมีข้อมูลและการศึกษาในเรื่องนี้ไม่มากเท่าใดนัก

จากการทบทวนข้อมูลผู้สูงอายุต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย (ไม่รวมนักท่องเที่ยวสูงวัยที่เข้ามาระยะสั้น) อาจจำแนกตามวัตถุประสงค์หรือลักษณะของการเข้ามาได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ หนึ่ง กลุ่มที่ย้ายถิ่นเข้ามาจากต่างประเทศตอนสูงอายุเพื่อพำนักอาศัยหรือใช้ชีวิตบั้นปลายในไทย สอง กลุ่มที่เข้ามาทำงาน ทำธุรกิจหรือติดตามแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน (ซึ่งอาจจะย้ายถิ่นเข้ามาตั้งแต่วัยทำงานหรือในช่วงสูงวัย) และสาม กลุ่มที่เกิดหรือย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยเป็นระยะเวลานานแต่ยังไม่มีสัญชาติไทย (เช่น ผู้สูงอายุเชื้อสายจีน หรืออินเดียบางกลุ่มที่อยู่มานาน หรือ แม้แต่เกิดในไทย แต่ไม่มีสัญชาติไทย รวมถึงผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์หรือที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน) 

ทั้ง 3 กลุ่มนี้ กลุ่มแรกมีความน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตั้งใจย้ายถิ่นเข้ามาพำนักในไทยในวัยสูงอายุ ส่วนหนึ่งอาจเข้ามาในรูปแบบการพำนักระยะยาว (long stay) ขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจเข้ามาในรูปแบบการแต่งงานกับคู่สมรสที่เป็นคนไทย (transnational marriage) โดยทั้งสองรูปแบบนี้ เชื่อว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ไม่ทราบชัดว่ามีจำนวนเท่าใดแน่นอน เพราะผู้สูงอายุต่างชาติบางกลุ่ม ที่เข้ามาในรูปแบบการพำนักระยะยาว (ไม่ได้สมรสกับคนไทย) แต่ก็ไม่ได้ขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภทพำนักระยะยาวโดยตรง ซึ่งในที่นี้หมายถึง วีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (non-immigrant visa) รหัส O-A และ O-X1 แต่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวโดยเดินทางเข้าออกผ่านแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อต่ออายุวีซ่าใหม่ให้อยู่อาศัยในไทยได้นานขึ้น หรือสำหรับกลุ่มที่อยู่กินกับคู่สมรสที่เป็นคนไทยจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้จดทะเบียนและใช้วีซ่าคู่สมรส หรือ ประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O ในการขออนุญาตอยู่ในประเทศ ซึ่งทำให้ค่อนข้างยากที่จะทราบจำนวนผู้สูงอายุต่างชาติกลุ่มนี้

เท่าที่รวบรวมได้ ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รายงานจำนวนการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าวด้วยวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว ด้วยเหตุผล ใช้ชีวิตบั้นปลาย ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุพำนักระยะยาว วีซ่ารหัส O-A (ในที่นี้ หมายถึง กลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป) ในช่วงปี 2556-2560 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 42,523 เป็น 72,969 คน (มากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ คนอังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน จีน สวิส ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และนอร์เวย์) ซึ่งน่าจะพอทำให้กล่าวได้ว่า จำนวนผู้สูงอายุต่างชาติที่เข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทย ปัจจุบันน่าจะมีจำนวนรวมอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นกว่าคน

สำหรับการคาดประมาณจำนวนคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่กินกับคู่สมรสคนไทยยิ่งทำได้ยากกว่า จากข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ทราบได้เพียงว่า ในไทยมีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายระหว่างคนไทยและคู่สมรสต่างชาติต่อปีอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 คู่ มากกว่าร้อยละ 80 เป็นการสมรสของชายชาวต่างชาติกับหญิงคนไทย(ซึ่งในจำนวนนี้ ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุและจำนวนหนึ่งอาจย้ายไปใช้ชีวิตในต่างประเทศหลังจดทะเบียน) และจากข้อมูลการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรโดยคนต่างด้าว ประเภทคนอยู่ชั่วคราวด้วยเหตุผล อยู่กับคู่สมรสคนไทย ในปี 2560 มีจำนวน 16,276 คน (มากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ คนอังกฤษ อินเดีย จีน อเมริกันเยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สวิส และดัตช์) ซึ่งอาจจะพอใช้เป็นค่าประมาณจำนวนของผู้สูงอายุต่างชาติกลุ่มนี้ แต่จำนวนที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้อยู่พอสมควร

ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว แต่รวมถึงประเทศกำ.ลังพัฒนาอย่างประเทศไทย การศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นของประชากรสูงวัย นับว่ามีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับตัวผู้เขียนเอง มีข้อสงสัยอยู่เหมือนกันปัจจุบัน เราพบการย้ายถิ่นเข้ามาของผู้สูงอายุต่างชาติจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงกว่าเพื่อเข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทยที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอนาคตที่ประเทศไทยเองก็กำลังมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นกัน เราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้สูงอายุไทยเดินทางย้ายถิ่นไปใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างประเทศ เป็นจำนวนมากขึ้นก็เป็นได้ เพียงแต่ปลายทางจะเป็นประเทศไหนหรือในภูมิภาคใด ยังไม่มีใครรู้

แหล่งที่มา: จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 วันที่ 2 ธันวาคม 2561 - มกราคม 2562 

โดย... 

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

[email protected]

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล