ความจริงกับอุดมศึกษาไทย
“เด็กเดี๋ยวนี้ไม่เรียนมหาวิทยาลัยกันแล้ว” “ปริญญาไม่มีความสำคัญ” “มหาวิทยาลัยจะต้องปิดเพราะไม่มีใครเรียน” “ความรู้อยู่ที่ปลายนิ้ว
อยากเรียนรู้อะไรก็ค้นหาเองได้” “อาจารย์มหาวิทยาลัยจะเป็นกลุ่มคนที่ตกงานมากที่สุด”ประโยคเหล่านี้เราได้ยินกันมากว่า 2 ปีแล้ว คนจำนวนไม่น้อยเมื่อได้ยินประโยคเหล่านี้ก็มักกล่าวซ้ำๆ ต่อกันไป จนดูจะกลายเป็น “ความจริง” ในสังคมไทยไปแล้ว ถามจริงๆ เถอะครับท่านคิดว่ามันจริงหรือ
ความเชื่อว่า “จริง” นี้ เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยจำนวนมากของไทยประสบกับสภาวการณ์ลดจำนวนลงของคนที่ปรารถนาจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับที่สูงกว่า สภาวการณ์เช่นนี้มีสัญญาณมาหลายปีแล้ว เพราะตัวเลขการเกิดของประชากรไทยลดลงมาเป็นลำดับ
ระหว่างพ.ศ. 2506-2526 เด็กไทยเกิดปีละกว่าล้านคน (2512 เกิด 1.2 ล้านคน) แต่หลังจาก ปี 2526 เป็นต้นมา จำนวนการเกิดลดต่ำกว่าล้านคนและลดลงเป็นลำดับ ปี 2560 มีเด็กไทยเกิดไม่ถึง 700,000 คน เมื่อจำนวนเกิดน้อยเมื่อ 17-18 ปีก่อน จำนวนคนที่อยู่ในวัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็ลดลงไปเป็นธรรมดา และยิ่งไปกว่านั้นมีเกินกว่าครึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยของเด็กกลุ่ม ที่เกิดเมื่อ 17-18 ปี ที่เรียนจนถึงมัธยมปลาย
อย่างไรก็ดี ที่เป็นข่าวกันขึ้นมาก็เพราะ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขมันลดลงอย่างฮวบฮาบผิดสังเกตในทุกระดับปริญญา และตรงนี้แหละ ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายต่างบอกกันว่า ที่น้อยลงไปก็เพราะเขาสามารถเรียนออนไลน์กันได้ทั่วโลก นักเรียนเขาไม่ต้องการเรียนมหาวิทยาลัยกันแล้ว ปริญญาหมดความสำคัญ ฯลฯ ซึ่งก็น่าจะมีความจริงปนอยู่บ้างอย่างแน่นอนเพียงแต่มันจริงแค่ไหนเท่านั้นเรื่องนี้มีอยู่4ประเด็นเกี่ยวข้องที่พึงพิจารณา
ประเด็นแรก สิ่งที่ประหลาดที่สุดในสังคมไทยก็คือ มีแต่คนพูดคาดเดาและก็เชื่อกันไปเลยว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่ไม่เห็นมีการศึกษากันจริงจังเลย (ทราบว่ามีคนกำลังศึกษาอยู่แต่ยังไม่มีผลออกมา)ว่าอะไรที่ทำให้มันลดไปฮวบฮาบในระดับภาพรวมถึงขนาดนั้นในระดับปริญญาตรี สาเหตุเป็นเพราะ 1.)ปริญญาไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปถึงไม่จบก็มีงานทำเรียนไปก็ไร้ประโยชน์ 2.)จบมัธยมปลายแต่ขอรอดูไปก่อนหรืออาจตั้งใจแบบมี Gap Year อย่างที่นักเรียนในโลกตะวันตกชอบทำกันในปัจจุบัน คือมีช่วงห่าง 1 ปี ระหว่างรอยต่อมัธยมกับมหาวิทยาลัยด้วยการออกไปทำงาน เดินทางเพื่อเรียนรู้ชีวิตว่า ต้องการเรียนอะไร หาประสบการณ์ หาข้อมูลว่าตลาดแรงงานจะไปทางใด 3.)ไม่มีเงินเรียน 4.)อยากได้ปริญญาแต่เห็นว่าหลักสูตรที่เรียนมันล้าสมัย ถึงจบไปก็ทำงานไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ ดังนั้นจึงขอรอดูลาดเลาก่อนฯลฯ
คำตอบน่าจะมาจากสาเหตุหลายอย่างผสมกัน โดยมีน้ำหนักแตกต่างกันหรืออาจเป็นว่า นักเรียนมีแบบแผนพฤติกรรมเหมือนเดิมเพียงแต่ปีที่เกิดเมื่อ 21-20-19-18-17 ปี ก่อนการเกิดมันลดลงมากเป็นพิเศษ และเด็กกลุ่มนี้ตายไปมาก อีกทั้งหายหกตกหล่นระหว่างทางก่อนจบมัธยมปลาย ด้วยจำนวนมากเป็นพิเศษ (เส้นทาง 12 ปี ของการศึกษาของเด็กไทยกลุ่มเหล่านี้ เกิดปัญหาจนหายไประหว่างทางอย่างผิดสังเกต)
ประเด็นที่ 2 ในสภาวการณ์เช่นนี้ มหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาปริญญาตรีถูกกระทบต่างกันมาก มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนั่นนักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังต้องการเข้าไปเรียน “เพื่อหน้า” พ่อแม่ก็อยาก “ได้หน้า” มีนักเรียนส่วนน้อยที่ตระหนักดีว่า ถึงแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อของประเทศแต่ก็ยังล้าหลังในวิชาการปรับตัวเข้ากับสิ่งที่โลกต้องการได้ช้าแต่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร ใครที่มีเงินก็ไปเรียนต่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติอาจเป็นทางเลือก แต่โดยทั่วไปมันก็ไม่แตกต่างจากหลักสูตรไทย มากนัก มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงเหล่านี้ถูกกระทบน้อย แต่ “เด็กเก่ง” ที่มีอยู่น้อยจะถูกแย่งชิงกันมาก หากต้องการยอดรับเท่าเดิมก็จะต้องรับนักเรียนที่มีคุณภาพด้อยลงเข้าเรียน(ที่จริงสถานการณ์นี้ได้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยใหญ่หลายแห่งมาหลายปีแล้ว)
ประเด็นที่ 3 มักมีผู้อ้างว่าความรู้มหาวิทยาลัยอยู่ที่ออนไลน์ เขาไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยแบบเดิมก็ได้ เพราะสามารถแสวงหาความรู้เองจากทั่วโลก ผมอยากถามว่าเด็กไทยเราส่วนใหญ่มีแรงจูงใจและมีความสามารถเรื่องภาษาอังกฤษในระดับนั้นหรือไม่
ในระดับโลกการเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศออนไลน์ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ อัตราคนเรียนจบโดยทั่วไปมีไม่ถึง 10% คนส่วนใหญ่ลงทะเบียนเรียน แต่เมื่อต้องส่งงานที่เขาบังคับให้ทำและให้อ่าน ไม่เกินหนึ่งภาคก็เลิกเรียนกันเป็นแถว เรารู้กันดีว่านักเรียนและนักศึกษาไทยโดยทั่วไปเขาไม่ขวนขวายบากบั่นขยันกันขนาดนั้นหรอก เขายังต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเดิม (เพราะไม่มีทางเลือกและไม่รู้จะเลือกเดินเส้นทางอื่นใด) เพียงขอให้อาจารย์ทั้งหลายปรับตัวสอนสิ่งที่ทันสมัยตรงกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มหาวิทยาลัยปิดหลักสูตรที่ล้าสมัยอย่างไม่ต้องเกรงใจกัน และทุ่มเททรัพยากรให้เขา ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เปลี่ยนรูปแบบการสอนเดิมๆ แบบยืนบรรยายดังที่ทำกันมา 200 ปีแล้วมาเป็นการ “เรียน” โดยเขามีส่วนร่วมในการค้นคว้าหาความรู้และทักษะ
ประเด็นที่ 4 การจัดหลักสูตรปริญญาตรีใหม่ๆ และจัดประกาศนียบัตรระยะสั้นเพื่อให้นักเรียนนักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้ disruptive technologies เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับโลก ดังที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นพ.อุดม คชินทร)ผลักดันเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง หากแต่สิ่งที่ต้องกังวล คือการมีคนเรียน หลักสูตรไม่ว่าจะดีเลิศ ทั้งเนื้อหาและผู้สอนอย่างไร แต่ถ้าไม่มีผู้เรียนแล้วก็สูญเปล่า เมื่อหลายปีก่อนภาครัฐไทยจ้างนักออกแบบ นักคิดระดับโลกมาให้แนวคิดและถ่ายทอดความรู้ด้วยเงินจำนวนสูงมาก ถึงแม้จะไม่เก็บเงินแต่ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าเรียนจำนวนน้อยมากอย่างน่าอายคนที่เชิญเขามา เหตุที่อาจไม่มีคนเรียนก็เพราะยังไม่มีการตระหนักกันอย่างชัดแจ้งว่ามีความสำคัญและต้องเรียนรู้อย่างรีบด่วน(“ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา") (ตัวอย่างคือการจัดสอนภาษาอังกฤษเสริมให้เป็นพิเศษนอกหลักสูตรแก่นักศึกษานั้น เท่าที่ทราบยังไม่เห็นมีมหาวิทยาลัยใดประสบผลสำเร็จ)
ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าเน้นแต่ด้านซัพพลาย(การจัดหลักสูตรและผู้สอน) โดยไม่สนใจด้านดีมานด์(การมารับการเรียนรู้) แล้วจะล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่เหมือนที่ผ่านๆ มา การทำความเข้าใจต่อสาธารณชนและมีการตลาดที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ตราบใดที่สิ่งที่ต้องเรียนรู้ใหม่เป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องการความขยันบากบั่นและขวนขวายต้องใช้เวลา เสกคาถาให้รู้ไม่ได้ฯลฯการหาคนมาเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในประเทศไทย
ในบางมหาวิทยาลัยตัวเลขนักศึกษาที่เรียนปริญญาด้าน IT ลดลง แทนที่จะเพิ่มดังที่คาดเดา ก็เพราะมันยาก ต้องใช้เวลาไม่ใช่เรื่องของ “มาม่า ยำยำ ไวไว” แถมใช้ทางลัดผ่านเวทมนตร์เสกความรู้เข้าท้องก็ทำไม่ได้อีก
ผู้เขียนมิได้บอกว่าสถานการณ์อันเลวร้ายสำหรับมหาวิทยาลัยนั้นไม่มี หากต้องการให้รู้ความจริงอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะพูดต่อๆ กันไปความจริงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด
หลักสูตรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและมหาวิทยาลัยมีมาตราฐาน จะมีคนปรารถนาเข้าเรียนเสมอ ปริญญาที่มีคุณภาพยังคงมีความสำคัญอย่างไม่หมดไปจากประเทศไทย และจะเป็นความฝันของเยาวชนไทยอีกนานเท่านาน