ร่าง พ.ร.บ.ยา ประเด็นที่น่าใส่ใจ
ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ยา กำลังได้รับการพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ เรื่องของยาเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ยาจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้
ในขณะที่บ้านเรากำลังถกเถียงกันเรื่องใครควรเป็นคนตัดสินใจเรื่องการใช้ยา ที่สหรัฐมีปัญหาใหญ่มากคือ เรื่องของการใช้ยามากเกินไปในลักษณะเสพติดเรียกว่า Opioids เป็นสาเหตุที่ทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าผู้ติดเชื้อ HIV/AID อุบัติเหตุรถยนต์ และอาวุธปืน ผู้ที่มีปัญหามากสุดคือผู้ใหญ่อายุระหว่าง 35-44 ปี มีอัตราการเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดสูงสุด
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA Commissioner) กำลังวางแผนปรับเปลี่ยนเรื่องยา เป็นสามประเภทคือยาที่ซื้อหาได้เองตามร้านขายทั่วไปร้านสะดวกซื้อ (Opioids) ยาที่แพทย์แนะนำให้ซื้อหา (Non prescription Drug) และยาที่ต้องให้แพทย์สั่ง (Prescription Drug) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะคนอเมริกันซื้อยาจากร้านทั่วไปมากินเองเช่นพวกยาแก้ปวด แต่ใช้ต่อเนื่องเป็นการใช้ยาเกินขนาด ยิ่งกว่านี้ ราคายาที่ซื้อหาได้เองตามร้านทั่วไปก็มีราคาแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นค่าใช้จ่ายที่กลายเป็นภาระของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ยังไม่ตัดสินใจอะไร ขนาดประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว
ดูเหมือนบ้านเรา ไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ อาจเป็นเพราะสาเหตุการเสียชีวิตด้านอื่นเช่นอุบัติเหตุรถยนต์มีอัตราที่สูงและเป็นที่สนใจมากกว่า แต่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ไม่ควรมองข้าม การใช้ยาเป็นเรื่องสำคัญ
ในการประชุม กมธ.สาธารณสุขเมื่อไม่นาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยา ตาม พ.ร.บ.ยา มาให้ความเห็นหลายหน่วยงาน ทั้ง อย. กรมสนับสนุนบริการทางการแพทย์ แพทยสภา สภาการพยาบาล และสภาเภสัชกรรม
ทุกฝ่ายมีจุดยืนของตัวเองในฐานะผู้มีวิชาชีพที่ก้ำกึ่งกัน ประธานกรรมาธิการ กมธ.สาธารณสุข ถือเป็นผู้มีประสบการณ์เวลาที่มีกลุ่มที่เห็นต่างเข้าชี้แจงพร้อมๆ กัน จึงได้ประกาศกฎเหล็กที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก่อนเริ่มประชุม คือ กรรมาธิการจะรับฟังอย่างเดียวห้ามมีคำถาม ให้ผู้แทนที่จะชี้แจงเข้ามาชี้แจงไม่พร้อมกัน และห้ามบันทึกคำชี้แจงใดๆจากที่ประชุม ใครที่กระทำต้องรับผิดชอบเอง ห้องประชุมกรรมาธิการวันนี้จึงแน่นขนัด หลายคนไม่มีที่นั่ง ต้องออกไปยืนข้างนอก แล้วยังมีการยื่นหนังสือ ถ่ายรูป บันทึกวีดิโอ ทั้งๆที่ท่านประธานประกาศว่าใครทำต้องรับผิดชอบเอง
จริงๆเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่มีการโต้แย้งกันนี้มีประเด็นใหญ่ไม่กี่ประเด็น และดูจะเน้นเรื่องการก้าวก่ายหรือก้าวล่วงระหว่างวิชาชีพระหว่างกันมากกว่าเรื่องอื่น โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าหลักการเรื่องยาถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงเพราะสภาพสังคมเราเปลี่ยนไปมากแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าหลักการไม่ควรเปลี่ยนเพราะเป็นเรื่องวิชาชีพที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมต้องมีความชัดเจน ทุกวิชาชีพต้องตั้งอยู่บนหลักการของวิชาชีพ ส่วนการทำงานนั้นต้องบูรณาการกัน
ผมได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายข้อด้วยกันอาทิ ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ อย. เสนอมานี้ไม่สอดคล้องกับนานาชาติ เพราะเสนอให้มียา 4 ระดับคือ ยาที่จ่ายตามใบสั่งยาของแพทย์ ยาจ่ายโดยเภสัชกร ยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง (ยาสามัญประจำบ้าน) และยาบรรจุเสร็จ ในขณะที่นานาชาติไม่มียาแบบที่สี่ อย.มีเหตุผลอะไร เรื่องยานี้น่าจะยึดเอาผู้ป่วย/ประชาชนเป็นศูนย์กลางมากกว่าวิชาชีพ น่าจะพิจารณาว่าประชาชนได้ประโยชน์ ปลอดภัย สะดวก เข้าถึงยาได้อย่างไร ปัจจุบันมียาแก้ปวดประเภท Opioids ที่มีส่วนผสมของฝิ่น (Opium) หรือคล้ายกันที่ทำให้หลายประเทศมีปัญหาการใช้ยาเกินขนาด จนเป็นอันตรายถึงชีวิต
เรื่องนี้ได้พิจารณาหาทางป้องกันในร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับนี้หรือไม่ ปัญหาของความจำเป็นในการใช้ยา อาจไม่ใช่เฉพาะด้านผู้จ่ายยา แต่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยาอาจไม่สะดวกและปลอดภัย เช่นอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแพทย์ โรงพยาบาล หรือในยามวิกาล ไม่มีความปลอดภัยในพื้นที่เช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีเช่นนี้จะให้ประชาชนทำอย่างไรที่จะเข้าถึงยา ปัจจุบันการควบคุมการใช้ยาค่อนข้างหละหลวม ร้านขายยาไม่มีเภสัชกรประจำร้าน ยิ่งในพื้นที่ห่างไกลความเจริญตามหมู่บ้าน ร้านขายของชำ ขายของเล็กๆน้อย ต่างก็ขายาด้วย และเป็นการขายยาที่ไม่ได้คำนึงถึงอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องการใช้ยา และไม่ได้ถามแม้กระทั่งว่าใช้เองหรือซื้อไปให้ใครใช้ แบบนี้เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการใช้ยา และ เรื่องความรับผิดตามกฎหมาย ถ้าผู้จ่ายยาจ่ายยาโดยไม่มีกฎหมายรองรับ จะถือว่าการจ่ายยานั้นผิดกฎหมายและต้องรับโทษอย่างไร รวมตลอดถึงถ้าให้ผู้อยู่ในวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่เภสัชกร เป็นผู้จ่ายยา ถ้าเกิดผิดพลาด กินยาไปแล้วเกิดภาวะเจ็บป่วย หรือสูญเสีย จะฟ้องร้องดำเนินคดีผู้จ่ายยาได้เพียงใด จะเข้าลักษณะความผิดถือเป็นประมาท เหมือนแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญไปรักษาคนไข้เกิดการสูญเสีย ศาลถือว่าประมาท กรณีแบบนี้จะรับผิดชอบกันอย่างไร
เท่าที่ฟังทั้งหมด ดูจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงในเรื่องของวิชาชีพ และอาจทำให้เกิดการได้เสียจากช่องว่างที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นเข้ามาทำตลาดในธุรกิจยา มากกว่าการถกเถียงกันว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร จึงขอฝาก กมธ.วิสามัญ ที่กำลังพิจารณาเรื่องร่าง พ.ร.บ.ในฐานะ สนช. ที่กำลังพิจารณากำหนดให้แล้วเสร็จในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ช่วยพิจารณา โดยเฉพาะ อย.ที่เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ว่าได้คิดถึงประชาชนแค่ไหน