สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย
ในการประชุม กมธ.สาธารณสุขวันก่อน จากการชี้แจงของผู้ชี้แจงจากสำนักวัณโรค พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นในระยะหลังอย่างน่าเป็นห่วง
ทั้งๆที่เคยลดต่ำไปอย่างมากเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 108,000 คน ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร 100,000 คน สูงถึง 156 คน สูงกว่าเวียตนามที่มีสัดส่วน 129 คน และใกล้เคียงกับลาวที่มีสัดส่วน 168 คน แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ผู้ป่วยวัณโรคของบ้านเราเป็นวัณโรคทั้งสามแบบคือ TB, MDR-TB และ TB/HIV ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่เป็นเพียงแบบเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะถือเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีวัณโรคสูง
เท่าที่ฟังจากผู้ชี้แจง เรามีปัญหาใหญ่ๆเกี่ยวกับการควบคุมวัณโรคสามสี่เรื่องคือ... หนึ่ง ...สำนักวัณโรคมีงบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับการควบคุมโรคอื่นเช่น HIV สอง... การถูกตัดลดงบประมาณวัคซีนจากองค์การระหว่างประเทศเนื่องจากไทยไม่เป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับกลางล่างเหมือนลาว เขมร พม่า ทำให้เราต้องช่วยตัวเอง ซึ่งไม่มีงบประมาณมาทดแทน สาม ...การควบคุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถติดตามควบคุมแรงงานต่างด้าวที่เป็นวัณโรคระยะแฝงได้ และ สี่... เรายังขาดกฎหมายควบคุมโรคที่เป็นอันตรายต่อสาธารณชนที่เรียกว่า Public- harm law ทำให้ไม่มีการบังคับควบคุมกักตัวส่งกลับออกนอกประเทศอย่างถูกกฎหมาย ทำให้ทำงานลำบากมาก
ผู้ชี้แจงจากสำนักวัณโรคชี้แจงว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่บุคคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆมีการตรวจพบเป็นบวกในหลายโรงพยาบาล รวมถึงหลายโรงเรียนที่มีการสุ่มตรวจก็พบเด็กที่มีผลตรวจเป็นบวก ซึ่งตรงนี้มีปัญหาทางสังคมทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันต่างๆเพราะไม่อยากให้สังคมตื่นตกใจ ทั้งๆที่เป็นเรื่องจริง ส่วนเรื่องวัณโรคที่เกิดกับผู้ต้องขังที่เป็นปัญหาใหญ่นั้น ทางกระทรวงได้รับความร่วมมือให้เข้าไปตรวจผู้ต้องขังมากขึ้น ทำให้เข้าถึงผู้ป่วยมากขึ้น และการควบคุมทำได้ดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
ได้ตั้งคำถามผู้ชี้แจงในสองสามเรื่อง 1. เนื่องจากงบประมาณควบคุมโรค โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนป้องกันโรคนี้มาจาก สปสช. ทางกองควบคุมวัณโรคได้รับงบประมาณที่พอเพียงหรือไม่ 2. วัณโรคถือเป็นโรคที่แพร่กระจายในอากาศ ที่เรียกว่า Air borne ถือเป็นโรคที่อันตรายต่อสาธารณะชนหรือ public harm เรื่องนี้ทางกระทรวงเคยคิดว่าสมควรจะมีกฎหมาย public harm หรือไม่ เพราะเรายังไม่มีกฎหมายนี้ และมีรูปแบบของกฎหมายที่ประเทศอื่นบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพบ้างหรือไม่ 3. วัณโรคเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ รวมทั้งเรื่องของฝุ่นละอองในอากาศ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่ลดลง และยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในอากาศทั่วไปอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้วัณโรคก็คงไม่มีทางหมดไปจากประเทศไทยใช่หรือไม่
ผู้ชี้แจงตอบคำถามข้อ 2 และ 3 ว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาระดับชาติที่จะออกกฎหมาย ซึ่งก็มีรูปแบบอยู่แล้วจากหลายประเทศ ส่วนเรื่องการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อการเป็นวัณโรคนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่กรมควบคุมโรคไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้โดยตรง ได้แต่เข้าไปตรวจรักษาเมื่อมีการเกิดวัณโรค ที่จริงเรื่องการตรวจวัณโรคเมื่อก่อนนี้ผู้สมัครเข้าทำงานต้องรับการตรวจ X-ray แต่ระยะหลังโรควัณโรคลดลงไปมาก จึงไม่มีการบังคับให้มีการตรวจ จนบัดนี้เป็นเรื่องของแต่ละองค์กรจะกำหนดกันเอง
ปัญหาใหญ่มากคือข้อ 1 ที่กรมควบคุมโรคขาดงบประมาณอย่างมากในการดำเนินการออกตรวจและมาตรการเชิงป้องกัน ปัญหามาจากงบประมาณที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ สปสช.ที่อนุมัติให้น้อยมากปีละสี่ร้อยกว่าล้าน ในขณะที่โรค HIV ได้รับงบประมาณกว่าพันล้าน ทั้งๆที่จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ลดลงอย่างมากในปัจจุบัน ทางหน่วยงานได้ขอเพิ่มงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องมือตรวจที่ทันสมัย แต่ก็ไม่ได้รับอย่างพอเพียง และยิ่งเมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านวัคซีนจากองค์การระหว่างประเทศเพราะเหตุที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper Middle Income) ทำให้ยิ่งขาดมาตรการป้องกัน เฉพาะวัคซีน BCG ที่ สปสช.ให้จัดซื้อนั้นไม่สามารถควบคุมป้องกันการเกิดวัณโรคได้ทุกอาการ ทำให้ประเทศเราเป็นหนึ่งในสิบสี่ประเทศที่มีวัณโรคสูงของโลก และผลสำเร็จในการควบคุมวัณโรคของเราต่ำสุดในประเทศ CMLVT ด้วยกัน ในปี 2560 ผลสัมฤทธิ์มีเพียง 83% ในขณะที่ แคมโบเดีย 94% ลาว 86% เมียนม่าร์ 88% และเวียตนาม 92% ทั้งๆที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้ากว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้
เรื่องของงบประมาณที่ สปสช.อนุมัติให้สำหรับการควบคุมวัณโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของ สปสช.อย่างมาก เพราะเงินส่วนใหญ่ไหลไปสำหรับงานป้องกันรักษาผู้ป่วย HIV แต่ละปีนับพันล้านจากการผลักดันของกลุ่มองค์กรเพื่อการพัฒนาเอกชนหรือ NGO ที่มีส่วนได้เสียจากโรค HIV ในขณะที่กลุ่มโรควัณโรคที่เป็นผลมาจากผู้ป่วย HIV ขาดภูมิต้านทาน กลับไม่ได้รับงบประมาณอย่างพอเพียง แม้กระทั่งเครื่องมือตรวจก็มีจำนวนน้อย ไม่สามารถใช้กับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศได้
วัณโรค เป็นโรคของคนจน ไม่ค่อยมีคนสนใจ ไม่เหมือนโรคเอดส์หรือโรคอื่นที่มีคนหลายกลุ่มให้ความสนใจทั้งคนรวยคนจนคนทั่วไปคนหลากหลายทางเพศ ที่มี NGO จำนวนมากให้การสนับสนุน เพราะเป็นโรคที่สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศ ได้งบประมาณทั้งจาก NGO แม่จากต่างประเทศและกดดันให้ได้รับงบประมาณภายในประเทศที่สูงมากกว่าวัณโรคหลายเท่าตัว
น่าสงสาร ที่วัณโรค ถูกตีตราว่าเป็นโรคของคนจน โรคที่ไม่มีคนใส่ใจ ทั้งๆที่กำลังเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นทุกที บางทีอาจถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.ที่ไม่เป็นธรรมสำหรับโรคคนจนอย่างวัณโรค อย่าปล่อยให้ NGO ใน สปสช.ครองเมือง การเมืองใน สปสช.มีมากเกินไปแล้ว