บทเรียนและเรื่องน่ารู้ สำหรับ SME ไทยที่จะรุกตลาดอินเดีย!

บทเรียนและเรื่องน่ารู้ สำหรับ SME ไทยที่จะรุกตลาดอินเดีย!

การบุกตลาดอินเดียไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันให้เดินหน้า เพราะอินเดียคือโอกาสมหาศาล

 และเป็นอนาคตของเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ของไทยต่างตื่นตัวต่อการทำความรู้จักอินเดีย บริษัทไทยที่จดทะเบียนในอินเดียเพิ่มจาก 26 ราย เป็น 30 ราย ภายใน 2 ปี และอยู่ระหว่างการจดทะเบียนอีกหลายราย ครอบคลุมธุรกิจหลากหลายสาขา

อินเดียเป็นโอกาสสำหรับ SME ไทยเช่นกัน เพราะผู้บริโภคชาวอินเดียมีจำนวนมากมายมหาศาล และมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ทำให้สินค้าแทบทุกประเภทยังคงเป็นที่ต้องการอย่างไม่จำกัด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีตระหนักในโอกาสดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมทางธุรกิจควบคู่กับกิจกรรมเทศกาลไทย Namaste Thailand Festival 2019 ที่ผ่านมา และอยากนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาถ่ายทอดให้ SME ไทยได้เรียนรู้กัน 

งานเทศไทยในกรุงนิวเดลี โอกาสดีดีสำหรับ SME ที่อยากรู้จักอินเดีย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้จัดงานเทศกาลไทย Namaste Thailand Festival 2019 ณ ลาน The Plaza หน้าห้างสรรพสินค้า Select CityWalk กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 15-17 มีนาคม 2562 โดpร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คัดเลือกและนำคณะ SME ไทยจำนวน 27 ราย ร่วมจัดจำหน่ายสินค้า ร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ ทั้งนี้ กิจกรรมการจำหน่ายสินค้าที่งานดังกล่าว มียอดจำหน่าย มูลค่าประมาณ 8 แสนบาท โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือกลุ่มเสื้อผ้าดีไซน์ เครื่องประดับวัยรุ่นที่ราคาไม่สูง และดอกไม้ต้นไม้ประดิษฐ์สำหรับตกแต่งบ้าน โ

อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ เล็งเห็งว่า การจำหน่ายสินค้าไทยในอินเดียจำเป็นต้องลดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าราคาจริงที่จำหน่ายในไทย ช่องทางการทำกำไรอย่างยั่งยืนจึงเป็นการทำธุรกิจระยะยาวร่วมกับ buyer ในอินเดีย โดยเน้นปริมาณการขายที่ต่อเนื่องมากกว่าการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายเป็นครั้งคราว ด้วยเหตุนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการร่วมด้วย 

กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ ทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับการส่งเสริม SME ไทยในอินเดีย

สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับ สสว. จัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจร่วมกับหอการค้าอินเดีย 2 แห่งคือ Federation of Indian Chambers of Commerce & Industry (FICCI) และ Millennial India International Chamber of Commerce Industry & Agriculture (MIICCIA) ในวันที่ 15 และ 16 มีนาคม 2562 ตามลำดับ โดยมี buyers ชาวอินเดียเข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้นประมาณ 60 ราย ทั้งนี้ สินค้า ที่ได้รับความสนใจในกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจมากที่สุด ได้แก่ คือ (1) กลุ่มเครื่องประดับแท้ เนื่องจากเครื่องประดับไทยมีงานเจียระไนและรูปแบบที่สวยงามปราณีตกว่าอินเดีย และมีราคาสมเหตุสมผลกว่าเครื่องประทับจากเกาหลีใต้หรือจีนไทเป (2) กลุ่มเสื้อผ้า มีการเจรจาธุรกิจหลากหลายรูปแบบนับตั้งแต่ การสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก เช่น เสื้อผ้าเด็กอ่อน เสื้อผ้าย้อมคราม ไปจนถึงการเจรจาธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าร่วมกับผู้ประกอบการไทยเนื่องจากฝีมือตัดเย็บของช่างไทยดีและมีค่าแรง/ค่าเครื่องจักรไม่สูงเมื่อเทียบกับคุณภาพสินค้า และ (3) กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาทิ หมอนยางพารา เครื่องหอม/น้ำมัน/แผ่นประคบสมุนไพร เนื่องจากแปลกใหม่ ราคาไม่แพง และมีกลิ่นหอมผ่อนคลาย เป็นต้น

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เรียนรู้ว่ากิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจโดยหน่วยงานรัฐของไทยจัดร่วมกับหอการค้าที่น่าเชื่อถือของอินเดียคือแนวทางการส่งเสริม SME ไทยที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และใช้งบประมาณไม่สูง โดยผู้ประกอบการจะได้พบ buyers ที่น่าเชื่อถือและมีความสนใจจริง และได้คุยกับ buyers โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดและความกลัวของผู้ประกอบการไทยได้มาก 

ภาครัฐบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสนับสนุน SME อย่างยั่งยืน

สสว. ในฐานะหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญสูงสุดในการส่งเสริม SME ไทย ได้ผนึกกำลังร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อหาวิธีนำสินค้า SME ไทยไปจำหน่ายในตลาดออนไลน์ของอินเดีย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพเทียบเท่าตลาดออนไลน์ของจีน โดยในเบื้องต้น นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. ได้เยี่ยมชมบริษัท TV 18 Home Shopping Network จำกัด ที่เมืองนอยดา (Noida) รัฐอุตตรประเทศ เพื่อหารือแนวทางการนำสินค้าไทยมาจำหน่ายในเวบไซต์ Home Shop 18 โดยได้รับทราบข้อมูลที่น่าสนใจในมุมมองของ Home Shop 18 ว่า สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดออนไลน์ของอินเดียควรเป็นสินค้าขนาดเล็กเพื่อให้จัดส่งได้ง่าย เช่นเสื้อผ้าทั่วไป (ไม่ใช่เสื้อผ้าดีไซน์) เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก และอุปกรณ์ออกกำลังกายในครัวเรือน แต่ไม่แนะนำให้จำหน่ายสินค้าจำพวกอาหารแปรรูปเพราะคนอินเดียชอบรสชาติที่แตกต่างจากคนไทย และไม่แนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าสมุนไพรเนื่องจากมีขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่ยุ่งยาก

ทั้งนี้ การนำสินค้าไทยมาจำหน่ายในตลาดออนไลน์ของอินเดีย จำเป็นต้องมีพ่อค้าคนกลาง (trader หรือ aggregator) นำเข้าสินค้าไทย และนำส่งสินค้าให้เวบไซต์ต่าง ๆ ตามที่ได้รับการสั่งซื้อต่อไป ซึ่ง สสว. และสถานเอกอัครราชทูตฯ จะดำเนินการอย่างแข็งขันในการจัดทำรายการสินค้าที่มีประสิทธิภาพจาก SME ไทย และแสวงหาพ่อค้าคนกลางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเป็นภาคธุรกิจไทยในอินเดีย หรือพ่อค้าคนกลางชาวต่างชาติที่น่าเชื่อถือ เพื่อขับเคลื่อนกลไกนี้ให้เกิดขึ้นและสร้างประโยชน์ให้แก่ SME ไทยได้จริง 

ภาครัฐเดินหน้ากันหนักขนาดนี้แล้ว หวังว่า SME ไทยจะเปิดใจและตั้งใจศึกษาไขว่คว้าโอกาสจากตลาดอินเดียแห่งนี้ไปพร้อม ๆ กัน

โดย...

เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี