มองต่างมุมว่าด้วยการแก่ตัว (2)
ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงพัฒนาการด้านสาธารณสุขที่ทำให้มนุษย์อายุยืนขึ้น และในกรณีของประเทศอังกฤษนั้นมีการเก็บสถิติพบว่า
อายุยืนมากขึ้น 2.5-3.0 ปี ในช่วง 2000-2014 แต่ช่วงที่อยู่อย่างสุขภาพไม่ดีก็เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1 ปี นอกจากนั้นการรักษาโรคหลักๆ ที่เป็นกันมากในกลุ่มผู้สูงอายุก็มีต้นทุนสูงมาก จึงนำไปสู่การเสนอให้ลดงบประมาณในการวิจัยและรักษาเป็นโรคๆ ไป แต่ให้หันมาวิจัยและรักษา “โรคความแก่” แทน ซึ่งเรื่องนี้ดูจะฝืนธรรมชาติมาก
แต่เมื่อผมดูตัวเลขการแก่ตัวลงของประชากรแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลกอย่างแน่นอน หากรักษาโรคความแก่ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น
- ในยุโรปนั้นอายุคาดหมาย (life expectancy)ของคนอายุ 65 ปี เพิ่มขึ้น 18.7 ปี ในปี 2005 เป็น 20 ปี ในปี 2011 แต่ช่วงที่มีสุขภาพดี (มีชีวิตโดยไม่มีความพิการหรือ years lived free of disability) ในช่วงดังกล่าวไม่เพิ่มขึ้นเลย แปลว่าส่วนที่อายุยืนเพิ่มขึ้น 1.3 ปีนั้นเป็นช่วงที่อยู่อย่างพิการ
- ประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปในโลกจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 พันล้านคนในวันนี้ ไปเป็น2.1 พันล้านคนในปี 2050 (ตัวเลขของสหประชาชาติ)
- ในกรณีของประเทศไทยนั้นตัวเลขการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ประเมินว่า ปัจจุบันมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 12 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมดประมาณ 68 ล้านคน) แต่ในปี 2040 จะเป็นกลุ่มที่จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 21 ล้านคน ในขณะที่ประชากรทั่วประเทศจะลดลงไปประมาณ 2 ล้านคน กล่าวคือจำนวนผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 18% ของประชากรทั้งหมดไปเป็นประมาณ 32% ซึ่งหากผู้สูงอายุดังกล่าวมีสุขภาพอ่อนแอ ก็คงจะเป็นภาระอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย
กล่าวคือ “ทางรอด” ทั้งในเชิงของคุณภาพชีวิตโดยตรงและของเศรษฐกิจโดยรวม คือการแสวงหายาเพื่อรักษาโรคความแก่ (cure for aging) ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องยากมาก เพราะปัจจุบันก็ยังไม่มีองค์การอาหารและยาของประเทศใดที่มองว่า ความแก่เป็นโรคที่ต้องหายามารักษา เพราะปัจจุบันนิยามของคำว่าโรคคือต้องเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มน้อย แต่ปัญหาคือทุกๆ คนกำลังแก่ตัว แต่คำถามที่กำลังถูกตั้งขึ้นมาโดยนักวิชาการบางคนคือ “ทำไมจึงจะต้องแก่ตัวลง?”
ทฤษฎีเกี่ยวกับการแก่ตัวลงอันหนึ่ง คือร่างกายสัตว์รวมทั้งมนุษย์ที่ได้วิวัฒนาการมาเป็นล้านปีนั้น ก็เพื่อให้มีความแข็งแรงในช่วงแรกของชีวิต เพื่อให้สามารถหาอาหารและสืบพันธุ์ได้เพียงพอที่เผ่าพันธุ์จะอยู่ต่อไปได้ ดังนั้นสำหรับมนุษย์นั้นการมีอายุยืนถึงประมาณ 50-60 ปี ก็เพียงพอแล้ว เพราะสามารถสืบพันธุ์และเลี้ยงลูกให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เพื่อสืบพันธุ์ต่อไปได้ถึง 3 ชั่วคนแล้ว ดังนั้นวิวัฒนาการของยีนในตัวของมนุษย์จึงไม่ต้องมุ่งเน้นไปในทางที่จะทำให้อายุต้องยืนต่อไปมากกว่านั้นอีก ตัวอย่างเช่นหากมียีนที่ทำให้แข็งแรงและดุร้ายตอนอายุน้อย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการหาอาหารและสืบพันธุ์ตอนอายุ 15-40 ปี แต่จะทำให้เป็นโรคหัวใจหรือสมองเสื่อมเมื่ออายุ 60 ปี ก็เป็นยีนที่เป็นประโยชน์ ควรเก็บเอาไว้เพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ เป็นต้น กล่าวคือวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ผ่านมานั้นน่าจะไม่เห็นประโยชน์ของการมีอายุเกินกว่า 60 ปี มากนัก
ดังนั้นคำตอบของการค้นหายาเพื่อรักษาโรคแก่ตัวจึงน่าจะมาจากการค้นคว้าหาคำตอบในระดับของเซลล์มากกว่าความพยายามที่จะค่อยๆ หายารักษาโรคเป็นโรคๆ ไป กล่าวคือมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่าโรคร้ายที่เกิดขึ้นทุกโรคในปัจจุบัน (โรคหัวใจ สมองตีบตัน ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม ฯลฯ) นั้นเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เริ่มแก่ตัวทั้งสิ้น ดังนั้นหากมียามาบำรุงรักษาให้เซลล์ไม่แก่ตัวได้ ก็จะเป็นยาที่ทำให้ไม่เป็นโรคทุกโรคได้เช่นกัน ดังที่เราเห็นอยู่เสมอว่าคนอายุน้อยนั้นมีจำนวนน้อยคนมากที่เป็นโรคร้าย เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่แก่ตัวลง ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายหลายๆ โรคพร้อมกัน
ดังนั้นจึงจะต้องทำความเข้าใจในระดับเซลล์ว่ามีกลไกอะไรที่จะสามารถควบคุมความแก้ได้ ไม่ใช่รักษาโรคโดยการศึกษาอวัยวะ เช่น รักษาโรคหัวใจก็ต้องไปดูที่หัวใจ คำถามคือแนวคิดดังกล่าวมีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์หรือเป็นความเชื่องมงายว่ามี Fountain of youthคำตอบในความเห็นของผมคือมีหลักฐานและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์จริง
ซึ่งผมขอนำเสนอแนวคิดนี้ในตอนต่อไปครับ