อุดมศึกษาไทยศตวรรษที่ 21 : ผู้เรียน ผู้สอนที่ตัองปรับตัว (1)

อุดมศึกษาไทยศตวรรษที่ 21 : ผู้เรียน ผู้สอนที่ตัองปรับตัว (1)

สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งกำลังเผชิญกับกระแสที่ท้าทายและมีผลต่อการบริหารจัดการอย่างมาก โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21

ที่มุ่งเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีความฉลาด รอบรู้ มีปัญญา มีวิจารณญาณ รู้เท่าทันโลก สืบเสาะหาความรู้เป็น ผู้เรียนต้องถูกสร้างให้มีน้ำอดน้ำทนต่อการเผชิญความทุกข์ยาก และเมื่อมีความสำเร็จก็จะมีการสะท้อนคิดให้สามารถยกระดับชีวิตให้สูงขึ้นเสมอ

อุดมศึกษาจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ประสานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เสริมสร้างทักษะในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การเผยแพร่วัฒนธรรม และส่งเสริมประชาธิปไตยโดยเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเสรีภาพ

บัณฑิตที่พึงประสงค์ในโลกปัจจุบันต้องสร้างให้เกิดมุมมองในประโยชน์ 2 อย่าง คือ ประโยชน์เพื่อตัวเองและประโยชน์เพื่อส่วนรวม ต้องมีความฉลาด ขยัน ซื่อสัตย์ มีมนุษย์สัมพันธ์ รู้รอบ และไม่เน้นการจำเพียงอย่างเดียว ต้องสามารถเชื่อมโยง หาเหตุผลให้ได้ รู้มากกว่าสิ่งที่เห็น เข้าใจมากกว่าสิ่งที่ได้ฟังมา สามารถคัดแยกแยะสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งต้องเป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียนตลอดชีวิตซึ่งการจะได้บัณฑิตในลักษณะนี้ต้องไม่เน้นการการสอนเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติและแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตนเอง

ในการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปสู่สังคมดิจิทัล มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่เอื้อให้เกิดการบูรณาการที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างมาก เช่นประเด็นของการลดช่องว่างการแข่งขันระหว่างสถาบันการศึกษา ทำให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวทั้งในด้านการบริหาร การจัดการองค์กร ก่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจการศึกษามากขึ้น สร้างช่องทางการขยายการศึกษาให้มากขึ้น เกิดการทำงานภายใต้แนวคิดการศึกษา 24 ชั่วโมง โดยผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมทางการศึกษาตลอด 24 ชั่วโมง มีการสร้างรูปแบบความร่วมมือทางการศึกษาหรือเครือข่ายการศึกษาที่หลากหลายขึ้น ลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กรและทำให้เกิดแรงผลักดันในการจัดการศึกษารูปแบบแปลกใหม่เพิ่มมากขึ้น การผลิตบัณฑิตเพื่อออกไปรับผิดชอบต่ออนาคตของชาติจึงเรื่องที่ท้าทายและไม่ง่ายอย่างที่คิด

ในอดีตคำว่า ทรัพยากร ในเชิงทุนนิยม หมายถึง เงินทุน โรงงาน ที่ดิน และปัจจัยทางวัตถุเพื่อการผลิต แต่ในโลกศตวรรษที่ 21 สิ่งที่มีค่ามีความหมายและเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ องค์ความรู้ การพัฒนาประเทศจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการสะสมองค์ความรู้ของคนในชาติ

สถาบันการศึกษาจะต้องเป็นสถาบันแห่งการเรียนและการสอนอย่างแท้จริง ต้องจัดการศึกษาหาความรู้ให้เกิดแก่ผู้เรียนอย่างกว้างขวางในระดับที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีการกระตุ้นและเสริมพลังผู้เรียนทุกระดับและทุกวัยให้มีแรงดลใจในการเรียนและมีระเบียบวินัยในการศึกษา ต้องทำงานร่วมกับองค์กรนายจ้างให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ต้องมีระบบที่เปิดกว้างยอมรับทั้งผู้ที่มีการศึกษาระดับสูง และผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาในระดับสูงเมื่อสมัยที่ยังอายุน้อยอยู่ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ให้ได้ศึกษาต่ออย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อบทบาทเปลี่ยนไปอาจารย์และสถาบันศึกษาจะต้องมีภาระหน้าที่ที่สำคัญ โดยเปลี่ยนจากการบอกให้จำและการสอนที่มีอยู่เดิม เปลี่ยนเป็นการกระตุ้นส่งเสริมเพื่อที่จะค้นหาพลังและศักยภาพที่มีอยู่ในคนคนนั้น บทบาทของครูอาจารย์จะเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็นเหมือนกับครูของศิลปิน หรือผู้ฝึกสอนนักกีฬา (Coach) มากกว่าที่จะเป็นผู้บอกอย่างในปัจจุบัน

สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสังคมไทยนั้น ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่จะติดตัวในลักษณะที่คงทนและสามารถประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนมาให้เหมาะสมกับงานที่เขาจะต้องทำในอนาคต

ถ้าจะให้เกิดผลลัพธ์อย่างรวดเร็วในประเทศไทยเราควรมุ่งปรับที่ผู้สอนก่อน โดยการพัฒนาให้เป็นผู้สอนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งควรจะเน้นให้ผู้สอน ให้ เป็นครูเพื่อศิษย์ มีความคิดเชิงวิเคราะห์  สร้างสรรค์นวัตกรรม เรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นครูที่มีความเป็นสากล

ครูผู้สอนต้องพัฒนาทักษะพื้นฐาน 7 ประการต่อไปนี้ให้เกิดขึ้นกับตัวเองเช่น  ทักษะในการตั้งคำถามเพื่อช่วยให้เด็กกำหนดรู้เป้าหมายและคิดได้ด้วยตนเอง ทักษะที่สอนให้เด็กหาความรู้ได้ด้วยตัวเองและด้วยการลงมือปฏิบัติ ทักษะในการคัดเลือกความรู้ตามสภาพแวดล้อมจริง ทักษะในการสร้างความรู้ การใช้เกณฑ์การทดสอบและตรวจสอบเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง ทักษะการทำให้เด็กคิดเป็นหรือตกผลึกทางความคิด ทักษะในการประยุกต์ใช้ และทักษะในการประเมินผล

เมื่อหันมามองขนาดห้องเรียนของเด็กไทยกลับพบว่า จำนวนผู้เรียนในห้องเรียนของไทยหลายระดับการศึกษามีจำนวนมากจนผู้สอนไม่สามารถนำหลักการผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมาใช้ได้ทั่วถึงห้องเรียนจึงกลายเป็นสถานที่ใช้เพื่อทำการสอน ผู้เรียนก็มีหน้าที่เรียนเพียงอย่างเดียว การกระตุ้นให้เกิดความใฝ่รู้ใฝ่เรียนทำได้ยากการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จึงทำไม่ได้เลย เด็กไทยยังจมอยู่แต่ในห้องเรียนและโรงเรียนกวดวิชา เรียนเรื่องที่ล้าสมัยจนลืมไปว่าโลกและสิ่งแวดล้อมสังคมมีอะไรให้ศึกษาและเรียนรู้อีกมากมาย เด็กไม่มีเวลาทำสิ่งที่ชอบค้นหาสิ่งที่สนใจและค้นพบความเป็นตนเอง อัจฉริยภาพถูกลดทอนเพราะระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กไทยกลายเป็นผู้เรียนสายพันธุ์ใหม่ที่สนใจแต่เรื่องของตนเอง

ผู้เรียนต้องรับรู้ว่าคุณค่าของมนุษย์จะถูกยอมรับและเกิดมรรคผลในทางปฏิบัติขึ้นได้ในสังคมที่ตระหนักในคุณค่าของของประชาธิปไตยเท่านั้น ตราบใดที่เยาวชนไทยใช้ชีวิตและถูกสภาพแห่งทุนนิยมและวัตถุนิยมเข้าครอบงำ จนมองว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็คือสภาวะของการเมืองที่น่าเบื่อหน่าย ตราบนั้นหายานะภัยของประเทศชาติจะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดแทนความมั่งคั่งของชนในชาติ

การสร้างหลักสูตรและปลูกฝังให้ผู้เรียนรักการเมือง ไม่รังเกียจการเมือง มองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นสิ่งที่นักการศึกษา ครูอาจารย์ นักการเมือง และสื่อสารมวลชน จะต้องร่วมกันทำให้เห็นเป็นรูปลักษณ์ปรากฏชัดเจน นอกจากนั้นครอบครัวและชุมชนควรจะเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างมุมมองที่ดีสำหรับผู้เรียนในเรื่องการเมืองเป็นลำดับแรก

โดย... 

ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์

ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม